ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.หนุน อปท.ทั่วประเทศ ปี 62 รุก “กองทุนสุขภาพท้องถิ่นระดับตำบล” ขับเคลื่อนใช้ “ประกาศหลักเกณฑ์ดำเนินงานกองทุนฉบับใหม่” แก้ปัญหา อุปสรรค สอดคล้องการดำเนินงานในพื้นที่ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ร่วมดูแลสุขภาพประชาชน  

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เป็นกลไกสำคัญภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ในการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มุ่งให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เน้นสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในพื้นที่ มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้มีการออก “ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561” ลงนามโดย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศฉบับเดิม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา   

ทั้งนี้ประกาศฉบับนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรา 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และแนวทางดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย มุ่งส่งเสริมบทบาทกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ทั้งประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข จัดทำแผนสุขภาพชุมชน ส่งเสริมสุขภาพให้มีมาตรการและกติกาทางสังคม พัฒนการบริหารจัดการกองทุนให้มีธรรมาภิบาล สร้างความเป็นเจ้าของกองทุน และจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับสุขภาพของคนในชุมชน

พร้อมสนับสนุนแนวทางดำเนินกิจกรรมกองทุนใน 5 ประเภท คือ 1.การจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุข 2.การจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคขององค์กรหรือกลุ่มประชาชน หรือหน่วยงาน 3.การจัดบริการสาธารณสุขของศูนย์เด็กเล็กหรือศูนย์ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน หรือการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุหรือคนพิการในชุมชน 4.สนับสนุนค่าใช้จ่ายบริหารหรือพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพของ อปท.ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินรายรับกองทุน และ 5.สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ ปรับถ้อยคำให้ชัดเจนและเอื้อต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนมากขึ้น, เพิ่มวงเงินค่าครุภัณฑ์ที่ต้องใช้ในโครงการขององค์กรหรือกลุ่มประชาชนเป็น 10,000 บาท, ยกเลิกการกำหนดบทยุบเลิกกองทุน เป็นการใช้มาตรการทางบริหารกำกับ ติดตามและกระตุ้นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง, นำรายแทรก/แก้ไข Anchorได้ตามขนาด อปท.มาเป็นเกณฑ์กำหนดอัตราสมทบ, ยกเลิกกำหนดวงเงินไม่เกินร้อยละ 15 ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อลดการมีเงินคงเหลือในกองทุน, และการยกเลิกการกำหนดอัตราชดเชยค่าบริการการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราชดเชยและรองรับกรณีมีการเพิ่มวงเงินในการสนับสนุนในอนาคต โดยให้เป็นดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการ LTC เป็นต้น   

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในประกาศกองทุนฯ ฉบับใหม่นี้ เป็นไปตามความเห็นและข้อเสนอแนะจากอนุกรรมการตรวจสอบ สปสช., สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และข้อเสนอจากกระบวนการรับฟังความเห็น 4 ภาคร่วมกับ อปท. โดยมีคณะทำงานจัดทำข้อเสนอปรับปรุง และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

“ประกาศกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับท้องถิ่นฯ ฉบับนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ อปท.ทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความชัดเจนในทางปฏิบัติและเป็นไปทิศทางเดียวกัน รองรับการเบิกจ่ายกองทุนให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง นำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นฯ จากนี้ไป จะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและชุมชนในอนาคต เพื่อร่วมดูแลสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทั่วประเทศต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว