ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เผย ในอนาคตหลังถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต.จะขยับสู่ศูนย์สร้างสุขภาวะในชุมชน เสริมความรู้ประชาชนควบคุม-ปรับปรุงพฤติกรรมได้เอง ระบุ ท้องถิ่นต้องใช้อิสระแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ให้ได้


ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยภายในงานเวทีเสวนา “ความสำคัญของระบบสุขภาพท้องถิ่น” ซึ่งอยู่ภายใต้การอบรมหลักสูตร “การจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นั้นจะทำให้ รพ.สต. ขยับตัวจากการเล่นเฉพาะบริการปฐมภูมิมาสู่เรื่องสุขภาวะได้มากขึ้น และจะเกิดการสร้างสุขภาวะที่ดีได้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นโจทย์ในการถ่ายโอนภารกิจฯ ในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า คือการขยับบทบาทจากบริการปฐมภูมิปกติ ไปสู่ “ศูนย์สร้างสุขภาวะในชุมชน”

อย่างไรก็ดี การสร้างเสริมสุขภาวะเป็นกระบวนการ หมายความว่าต้องเป็นกิจกรรมที่เอื้อให้ประชาชนสามารถควบคุมและปรับปรุงสุขภาพได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเสริมพลังความรู้ให้เป็นกระบวนการที่ประชาชนเรียนรู้ และควบคุมพฤติกรรมเองได้

ฉะนั้นในอนาคต รพ.สต.จะไม่ใช่แค่โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล แต่จะขยับเป็นโรงสร้างสุขภาวะประจำตำบล ซึ่งส่วนตัวคิดว่ายังมีหน้างานที่จะขยายตัวอีกมาก เพราะต้องยอมรับว่าการมีการศึกษา อาหาร และที่อยู่อาศัยที่ดี ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะเกื้อกูลและส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี

นอกจากนี้ ในอนาคต รพ.สต. อาจจะเป็นอะไรที่อธิบายถึงการสร้างสุขภาวะของชุมชนมากขึ้น ยกระดับที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคม ซึ่งวันนี้ส่วนตัวกำลังคิดว่า รพ.สต. ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการสร้างสุขภาวะของคนในชุมชนที่จะไปไกลกว่าสุขภาพ

“ฉะนั้นถ้าสามารถพัฒนาหน่วยที่เป็นยูนิต ผมมองว่า รพ.สต. คือยูนิตด้านสุขภาวะของสังคม ของชุมชนเป็น outlet ใหญ่ที่สุดในการสร้างสุขภาวะ สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการจัดการที่เรียกว่าองค์รวม และบูรณาการได้จริง ต้องการไอเดีย ความคิด และผมก็เชื่อว่าท่านที่อยู่ รพ.สต. ที่ทำงานอยู่กับพื้นที่ ทำงานอยู่กับชุมชนท่านมีไอเดีย แต่มิติเดิมที่ท่านสังกัดอยู่คือกระทรวงฯ ท่านทำเกินขอบเขตนั้นไม่ได้ แต่เมื่อท่านมาอยู่กับองค์กรท้องถิ่นที่มีภารกิจมากกว่ากระทรวงฯ ท่านสามารถทำมิติพวกนี้ได้ เป็นการทลายกำแพงบางอย่างที่จะทำให้สามารถทำงานอะไรได้กว้างขึ้นกว่าเดิม จะไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอีกต่อไป” ศ.วุฒิสาร ระบุ

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) จะมีความสำคัญที่จะต้องประสานระบบการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคระหว่างนโยบาย ทิศทางของกระทรวง รวมไปถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะใส่เข้ามาใน รพ.สต. ฉะนั้นจะต้องออกแบบให้มีระบบ และโครงสร้างที่เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมไปถึงมีอำนาจพอสมควรในการบริหารจัดการความสำคัญ หรือการบริหารความร่วมมือ หากทุกคนนำประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และบอกว่ากำลังจะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีของคนตรงนี้ทำได้

อย่างไรก็ตาม หลักการกระจายอำนาจที่สำคัญคือการเอาอำนาจการแก้ปัญหาไปไว้ใกล้ปัญหา โดยองค์กรที่ใกล้ปัญหาที่สุดก็คือองค์กรท้องถิ่น หรือ อบจ. ที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน ซึ่งมีความแตกต่างจากหน่วยงานรัฐ เพราะผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดูแลประชาชน และมีความรับผิดชอบทางสังคม ขณะเดียวกันท้องถิ่นจะต้องใช้ความมีอิสระที่มีพื้นที่ของการทำนวัตกรรม หรือวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง เฉพาะทาง และเฉพาะพื้นที่ให้ได้

ทั้งนี้ การถ่ายโอนภารกิจฯ เป็นเพียงขั้นตอนการปรับบทบาทระหว่างรัฐกับท้องถิ่นที่ท้องถิ่นกลายเป็นเจ้าของ และเป็นผู้จัดการกิจการเหล่านั้นแทนรัฐ แทนราชการส่วนกลาง หรือราชการภูมิภาค แต่ความสำเร็จของการกระจายอำนาจคือการไปทำให้ท้องถิ่นตอบสนองปัญหาความต้องการได้ตรงจุด

“ที่เราชอบพูดว่าไม่ให้ใครตกรถไฟแห่งความเจริญก้าวหน้า ต้องตระหนักว่าในชุมชน หรือพื้นที่มีคนจำนวนหนึ่งไม่รู้ว่าสถานีรถไฟอยู่ตรงไหนหาให้เจอ ไปดึงเขาขึ้นมา อย่าให้คนหนึ่งไปไกลแต่อีกคนหนึ่งตามอะไรไม่ไม่ทัน ด้านสุขภาพก็เหมือนกัน” ศ.วุฒิสาร ระบุ