ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ. แจง ความคืบหน้า ภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ.’ กังวลยอดถ่ายโอนส่ง อ... สธ. หากไม่ตรง ไม่ได้อนุมัติ


เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในของการเสวนา การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข : นโยบายภาครัฐกับความพร้อมสู่การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” จัดโดยสำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ช่วงหนึ่งถึงรายละเอียดบทบาทของกระทรวง สธ.ในการเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจการถ่ายโอน รพสต. ไปยัง อบจ.

นพ.สุระ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของกระทรวง สธ. ภายหลังได้รับหน้าที่ให้ดูแลการถ่ายโอน ได้ตั้งคณะทำงานสองคณะ คือ 1.ด้านบริการและการบริหารจัดการ 2.ด้านการบริหารงานบุคคล จากนั้นได้ประชุมมอบหมายงานกัน และหารือกับสำนักงานงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเตรียมการการถ่ายโอน ภายหลังได้ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดไปยัง สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.)

อย่างไรก็ดีทางกระทรวง สธ. มีสิ่งที่ต้องเตรียมจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมในการรับภารกิจด้านสาธารณสุข 2.การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ 3. การเตรียมความพร้อมด้านการบริหารงานบุคคล 4. การประชาสัมพันธ์และซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอน

ทั้งนี้ กลไกของการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจการถ่ายโอนไปยัง อบจ. ของคณะกรรมการการถ่ายโอน โดยกรรมการกระจายอำนาจระดับชาติ จะมีอนุกรรมการ สองคณะ คือ 1.ด้านคุณภาพและงบประมาน 2.ด้านการบริหารงานบุคคล

นอกจากนี้จะมีคณะกรรมการประเมินและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร คณะกรรมการในการจัดการเรื่องทรัพย์สินที่จะถ่ายโอน เช่น สถานที่ ครุภัณฑ์ ฯลฯ และมีอนุกรรมการในการเตรียมความพร้อมด้านระบบบริการ รวมถึงอนุกรรมการด้านการประเมินและเตรียมความพร้อมการถ่ายโอนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์

นพ.สุระ กล่าวอีกว่า อนุกรรมการในการถ่ายโอนไป อปท. นั้นมีมติเห็นชอบจำนวน 49 แห่ง และ รพ.สต. จำนวน 9,750 แห่ง มีบุคลากรทั้งสิ้น 4 หมื่นกว่าคนที่เป็นข้าราชการ ส่วนลูกจ้างอื่นๆ มีน้อยกว่าประมาณเท่าตัว ทว่า ด้านความประสงค์ที่จะรับการถ่ายโอนมี อบจ. ที่รับการถ่ายโอนมีจำนวน 49 แห่ง ส่วน รพ.สต. มีจำนวน 3,366 แห่ง และบุคลากรจำนวน 21,993 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1.2 หมื่นคน และอัตราจ้างประมาณ 1 หมื่นคน

ส่วนในระดับจังหวัด ข้อมูลที่ทางกระทรวง สธ. มีขณะนี้ พบว่า มีผู้ที่ประสงค์โอนเป็นข้าราชการรวมทั้งหมด 11,472 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ จำนวน 9,732 รวม 21,474 คน และมีบางคนที่มีชื่อซ้ำทั้งประสงค์จะถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอนอีก 587 คน รวมที่มีอยู่ในระบบทั้งสิ้นจำนวน 22,061 คน

หากเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำปลัดกระทรวง สธ. จะเป็นคนลงนามในการให้โอน ส่วนพนักงานราชการ โดยราชการในส่วนภูมิภาคได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนของลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวง ต้องลาออก โดยจะไม่มีสถานะกับทางกระทรวง ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งจะไปอยู่ที่ อบจ.

สำหรับกรอบเวลากรณีผู้ที่เป็นข้าราชการซึ่งประสงค์จะโอน ได้ตรวจสอบรายชื่อและในเดือนกุมภาพันธ์ได้เสนอคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักงานปลัดกระทรวง สธ. (อ.ก.พ. สป.)  คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง สธ. (อ.ก.พ. สธ.) เพื่อกำหนดหลักที่จะโอน ส่วนในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม จะจัดทำแนวทางแจ้งจังหวัดจากนั้นจะส่งไปที่ อ.ก.พ. สป. และอ.ก.พ. สธ. อีกครั้งเพื่อเกลี่ยอัตรากำลังไปยังสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ รพ.สต.

ขณะที่ผู้ไม่ประสงค์จะถ่ายโอนมีจำนวน 5,903 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 4,296 คน ลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 392 คน ซึ่งให้เหตุผลว่าขอทำงานที่เดิม ฯลฯ  โดยสำหรับผู้ไม่ประสงค์ถ่ายโอน ทางกระทรวง สธ. จะใช้วิธีการคือหากเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ ผู้ว่าฯ จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรกระจายกันภายในจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

อย่างไรก็ดี ตามกรอบเวลา เดือนมกราคมตรวจสอบรายชื่อเรียบร้อยแล้ว จากนั้น อ.ก.พ. สธ. และอ.ก.พ. สป. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนจัดสรรตำแหน่งแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหลือเพียงบางตำแหน่งที่ไม่สามารถเกลี่ยให้ได้ต้องขอความเห็นชอบจาก สำนักงาน กพ. เนื่องจากมีกฎหมายกำกับเรื่องบุคลากรอยู่ และหลักเกณฑ์ในการจัดสรรข้าราชการบางประเภทและบางตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปที่หน่วยบริการได้ ส่วนเดือน มีนาคม - พฤษภาคม จะมีการจัดทำแนวทางในการเกลี่ยให้กับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ปฏิบัติงาน จากนั้นจึงจะทำการย้ายและสัญญาจ้างใหม่ในเดือน มิถุนายน - สิงหาคม

“วันที่ 29 จะมีการประชุม อ.ก.พ. สธ. ซึ่งเราจะนำเสนอความประสงค์ทั้งหมดในจำนวน 3,366 แห่ง ซึ่งมีบางส่วนที่สำนักงบประมาณเห็นชอบมาแล้ว 512 แห่ง ที่เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะถูกแยกออกมา ส่วนที่เหลือคือสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่

“ในห้วงสัปดาห์นี้หลังจากวันจันทร์ที่ผ่านมาที่ได้คุยกัน ทางเราเองและ อบจ. สสจ. ก็กำลังมีการเช็คตัวเลขให้มีความชัดเจน เพราะการนำเสนอ อ.ก.พ. ต้องแจงจำนวนและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นด้วย ถ้ายอดไม่ตรงก็จะไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความกังวลมาก” รองปลัดกระทรวง สธ. กล่าว

นพ.สุระ กล่าวต่อไปว่า การเชื่อมประสานระหว่างกระทรวง สธ. ภายหลังจาก รพ.สต. ถูกถ่ายโอนไปยังท้องถิ่นนั้น เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากการถ่ายโอน ทางกระทรวง สธ. ได้มีการตั้งอนุกรรมการดังที่กล่าวมา เพื่อดูแลเรื่องบริการ ซึ่งอย่างแรกต้องไปดูก่อนว่าภารกิจตามกฎหมายของ อบจ. มีศักยภาพในการจัดบริการอะไรได้บ้าง เพราะเดิมตอนที่ รพ.สต. ยังอยู่กับกระทรวง สธ. มีภาระหน้าที่ในการให้บริการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ กล่าวคือ ตั้งแต่บริการระดับพื้นฐานไปจนถึงการมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้บริการ

“ในฐานะผู้ที่ดูแลกฎหมายการให้บริการ ทางเราก็พร้อมเป็นพี่เลี้ยงคอยดูภารกิจทางสาธารณสุขของ อบจ. เช่น มาตรฐาน รพ.สต. ติดดาว โดย รพ.สต. ทั้งหมดที่ถ่ายโอนไปต้องมีมาตรฐานไม่น้อยไปกว่าเดิมที่เคยสังกัดอยู่กระทรวง สธ. เคยทำไว้ โดยมีเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้วัด 5 ด้าน ไม่อย่างนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน ก็จะไม่ตอบโจทย์เป้าหมายของการถ่ายโอน” รองปลัดกระทรวง สธ. ระบุ

ทั้งนี้ บทบาทของกระทรวง สธ. หลังจากนี้ ทางส่วนกลางก็ได้ตั้งสำนักปฐมภูมิขึ้นมาเพื่อดูแลงานปฐมภูมิโดยเฉพาะ สสจ. ขณะนี้ก็มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการเรื่องอื่นๆ รวมถึง สสอ. ถึงแม้ไม่มี รพ.สต. ก็ยังคงมีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนกำกับติดตามงานสาธารณสุขในระดับอำเภอเหมือนเดิม

ฉะนั้นในภาพใหญ่หากเสร็จสิ้นภารกิจการถ่ายโอน กระทรวง สธ. ไม่ได้ขัดข้องเพียงแต่ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ซึ่งเป็นผู้รับชอบต่อ ต้องมาคุยจะดำเนินการส่งต่อกันอย่างไรต้องดูกันอีกที

นพ.สุระ กล่าวว่า สิ่งที่คนกังวลกันในกรณีโควิดที่ผ่านมาว่าหากเกิดการระบาดหนักอีกในอนาคต ใครจะมีอำนาจมอบหมายงานให้กับ รพ.สต. นั้น ที่ทำอยู่ในขณะนี้คือการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกรมควบคุมโรครองรับสถานการณ์เฉพาะแบบนี้ไว้แล้ว ซึ่งทางกระทรวง สธ. ได้ออกแบบไว้เช่นกันว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นประธานโรคติดต่อจังหวัด ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุ จึงจะเป็นการประสานกับ อบจ. สั่งงานแบบคู่ขนานกับกระทรวงมหาดไทย