ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เลอพงศ์” ยืนยัน 1 ต.ค. นี้ ต้องถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต. 3,366 แห่ง บุคลากรสมัครใจ 1.2 หมื่นคน ไปยัง อบจ. ทั้งหมด


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เปิดเผยในงานเสวนาการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข “นโยบายภาครัฐ กับความพร้อมการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า ตัวเลข รพ.สต. ที่สมัครใจถ่ายโอนฯ ในขณะนี้อยู่ที่จำนวน 3,366 แห่ง บุคลากรข้าราชการที่สมัครใจ ประมาณ 1.2 หมื่นคน ลูกจ้าง ประมาณ 1 หมื่นคน ขณะที่เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 สำนักงบประมาณอนุมัติร่างงบประมาณ โดยตั้งงบประมาณสำหรับถ่ายโอน รพ.สต. ได้เพียง 512 แห่ง และบุคลากรเฉพาะข้าราชการ จำนวน 2,384 คน

อย่างไรก็ดี ที่มาของตัวเลขข้างต้น เนื่องจากเป็นการดำเนินการในกระบวนการด้านธุรการครั้งแรก อาจจะมีการสื่อสารหรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ยืนยันว่ายังจะให้มีการถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต. ทั้ง 3,366 แห่ง และบุคลากรสมัครใจ 1.2 หมื่นคน ซึ่งกระบวนการในขณะนี้ต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ ซึ่งตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ อบจ.จะนำข้อมูล บุคลากร รพ.สต. สมัครใจถ่ายโอนที่ได้แจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันยอดแก่ สธ. ครบ 49 อบจ. ในวันนี้

“ในวันพรุ่งนี้จะมีการปรับประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนประเภทสามัญกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ. สธ.) เพื่อปรับยอดโอนจำนวนบุคลากร หลังจากเทียบยอดตรงกันวันนี้ เข้าขออนุมัติ อ.ก.พ.สธ.” นายเลอพงศ์ ระบุ

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องงบประมาณ หรือเนื้อหางานจะต้องแยกออกเป็นออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งแนวทางการกระจายอำนาจที่เห็นชอบออกมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้องาน งบประมาณ ตามแนวทางระบุให้จัดสรรงบเหมือนเดิม หากการจัดสรรไปขัดกับกับระเบียบ กฎหมาย หรือประกาศของหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นจะต้องไปแก้ไข เพื่อให้ได้รับงบประมาณตามเดิม ขณะเดียวกันก็ยังมีบทเฉพาะกาลอีกว่าหากส่วนราชการไม่สามารถแก้ไข้ได้ ก็ให้ปฏิบัติตามเดิมไปพลางจนกว่าจะมีการแก้ไขระเบียบให้เรียบร้อย

สำหรับแนวทางเพิ่มเติมเงินสนับสนุนที่ส่งเสริมในภารกิจถ่ายโอนนั้นฯ ในช่วงที่มีการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 84 แห่งนั้น ก.ก.ถ. ได้เขียนเหตุและผลว่าเงินก้อนที่จะสนับสนุนนั้นเรียกว่าเงินจูงใจที่เพิ่มพิเศษให้ ซึ่งก็มีการจัดสรรให้แห่งละ 1 ล้านบาท เพราะในตอนนั้นยังไม่มีการแบ่งระดับขนาดของ รพ.สต.

อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนไปยัง อบจ. ในครั้งนี้ ยังเขียนให้ยึดถือปฏิบัติคล้ายกัน แต่สำหรับแนวทาง อบจ. นั้น เนื่องจากดูข้อมูลแล้วว่าภารกิจ รพ.สต. แต่ละแห่งมีขนาดไม่เท่ากัน เช่น S M L จึงต้องตั้งงบประมาณขั้นใหม่ โดยล้อกับเกณฑ์เงินจูงใจ โดยจะแบ่งออกเป็น 1 ล้าน 1.5 ล้าน และ 2 ล้าน เพื่อให้ รพ.สต. สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น

“เบื้องต้นเรามีข้อมูลจากพื้นที่ว่างบที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่เพียงพอในการบริหาร จึงต้องหาก้อนพิเศษให้ ก็เลยเป็นที่มาว่า S M L เราเขียนแนวทางในสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพิ่มให้” นายเลอพงศ์ ระบุ

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระบวนการ ขั้นตอนวิธีการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจฯ เริ่มเข้าที่เข้าทาง พูดง่ายๆ ว่าในวันที่ 1 ต.ค. ก็คงจะต้องมีการถ่ายโอนภารกิจฯ ตามจำนวนที่ อบจ. ได้แจ้งประสงค์เอาไว้ทั้งหมด 3,366 แห่ง แต่สำหรับบุคลากรที่ได้มีการระบุไปข้างต้นเป็นเพียงยอดคร่าวๆ แต่ก็ต้องเน้นว่าบุคลากรต้องมีความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ซึ่งก็มีหลักฐานจากที่ อบจ. ได้ทำแบบฟอร์มให้เจ้าตัวได้ลงนามในเอกสารยืนยันการสมัครใจนถ่ายโอนฯ

อย่างไรก็ดี แนวทางของกฎหมายการกระจายอำนาจไม่ได้เขียนระยะเวลาการถ่ายโอนภารกิจฯ ไว้ ซึ่งจะขึ้นอยู่ในแต่ละพื้นที่ว่ามีความพร้อมเมื่อไหร่ กฎหมายส่วนกลางไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะต้องถ่ายโอนให้แล้วเสร็จในปีใด

ขณะเดียวกัน ก่อนที่ ก.ก.ถ. จะเห็นชอบแนวทางการถ่ายโอนภารกิจฯ ไปยัง อบจ. นั้น เมื่อคณะทำงานในขั้นตอนการยกร่างเสร็จสิ้นก็จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และหลักจากประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว คณะทำงานก็ได้แปรสภาพเป็นพี่เลี้ยงลงพื้นที่ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกจังหวัด ในฐานะคนทำงาน คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ หรือ ก.ก.ถ. ไม่ได้เร่งรัดว่าจะต้องถ่ายโอนเท่าไหร่

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า สิทธิและสวัสดิการของบุคลากรที่จะถ่ายโอนนั้น ตามแนวทางระบุว่าจะต้องได้ไม่น้อยกว่าเดิม แต่ก็ต้องเข้าใจตรงกันว่าข้าราชการพลเรือนหากย้ายมาท้องถิ่นก็จะเรียกว่าข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งสิทธิสวัสดิการจะเป็นระเบียบที่ออกจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) จากข้อมูลที่ได้รับฟังมาจาก มท. ก็ได้ระบุว่าก็จะล้อมาจากข้าราชการพลเรือน แต่มีบางอย่างที่มองว่าน่าจะให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมให้แก่ข้าราชส่วนท้องถิ่นบ้าง ฉะนั้นอาจจะแตกต่างบ้างเล็กน้อย แต่จะไม่น้อยกว่าเดิมและไม่ได้มากกว่าเดิมจนแตกต่างมากนัก

ทั้งนี้ ในเรื่องของความก้าวหน้าของท้องถิ่นเทียบเคียงกับ สธ. หรือข้าราชการพลเรือนทั่วไปทุกกระทรวง เมื่อถ่ายโอนมายังท้องถิ่นแล้ว หากบุคลากรมีความสามารถ หรือศักยภาพเพียงพอก็สามารถก้าวข้ามได้ เทียบเคียงกับข้าราชที่อยู่ รพ.สต. ความก้าวหน้าในสายอาชีพสามารถไปถึงปลัด อบจ. ได้

“บุคลากร รวมถึงผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็น อบจ. หรือ รพ.สต. อาจจะกำลังเข้าใจยังไม่ตรงกันเรื่องจำนวน รพ.สต. ที่สำนักงบได้จัดสรรให้ ในส่วนของผมเองที่เรียนว่ายอด 3,366 แห่ง ทางคณะอนุฯ ก็ยังยืนยันว่าจะให้มีการถ่ายโอนฯ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ให้ได้ไปทั้งหมด ตามแนวทางประกาศของการกระจายอำนาจที่ได้ประกาศออกไป เพียงแต่ในรายละเอียดขั้นตอน ไม่ต้องกังวล เพราะตอนนี้เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง พวกเราทุกคนทุกภาคส่วนกำลังช่วยกัน เป้าหมายเดียวกันคือต้องมีการถ่ายโอน 3,366 แห่งในปีนี้” นายเลอพงศ์ ระบุ