ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เลอพงศ์” ระบุ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณสำหรับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ต้องรอหลังเข้าสู่สภาฯ ไปแล้ว


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 ได้มีการพิจารณาเรื่องการจัดสรรงบประมาณสำหรับบุคลากรข้าราชการที่สมัครใจถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพราะทั่วประเทศมีบุคลากรสมัครใจถ่ายโอนฯ กว่า 1.2 หมื่นคน แต่สำนักงบประมาณตั้งงบประมาณไว้สำหรับการถ่ายโอนฯ เพียง 2,860 คนเท่านั้น

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้แจ้งว่า เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบงบประมาณตามที่สำนักงบฯ ได้นำเสนอเป็นรูปเล่มแล้ว ก็จะส่งต่อเข้าสู่สภา ฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มงบประมาณจะต้องไปอยู่ในขั้นตอนหลังจากเสนองบประมาณต่อสภาในวาระ 1 นั่นหมายความว่าการจะขอเข้า ครม. เพื่อทบทวนมติทำไม่ได้

นั่นทำให้ตัวเลขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่สามารถถ่ายโอนภารกิจได้มีเพียง 512 แห่ง จากที่แสดงความประสงค์ขอถ่ายโอนฯ ทั้งหมด 3,366 แห่ง และบุคลากรเพียง 2,860 คน จากทั้งหมดกว่า 1.2 หมื่นคน ซึ่งเป็นไปตามที่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมติอนุกรรมการฯ จึงมีการกำหนด 3 ทางเลือกเพื่อให้การถ่ายโอนฯ เป็นไปตามแนวทางที่ได้มีการกำหนดไว้ คือ 1. ให้ อบจ. ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปยัง อบจ. ในยอดงบประมาณเท่าเดิมสำหรับส่วนที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนฯ 2. หากไม่สามารถขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณฯ ได้ ก็จะขอมติจาก ก.ก.ถ. โดยให้ประธาน ก.ก.ถ. นำเรื่องเสนอ ครม. ขอใช้งบกลาง หรืองบอื่นๆ และ 3. หากไม่สามารถทำได้ ก็จะให้ สธ. ดำเนินการให้บุคลากรสามารถช่วยราชการไปพลางก่อนอย่างน้อย 1 ปี และเตรียมการถ่ายโอนให้ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนภารกิจฯ ที่จะเริ่มขึ้นในเดือน ต.ค. 2565 หากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงงบประมาณไม่สำเร็จ จะเป็นลักษณะ “ของและภาระกิจ”ไปก่อน เช่น งาน , สถานีอนามัย ,วัสดุ ครุภัณฑ์ ,ที่ดิน ฯลฯ ส่วน “คน” จะตามไปช่วยราชการก่อน

“จำนวนตัวเลข รพ.สต. ขอถ่ายโอนทั้งหมด 3,384 แห่ง เป็นข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ที่ อบจ. แต่ละจังหวัดส่งเข้ามา แต่เมื่อถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่จะต้องมีการบันทึกคำของบประมาณเข้าระบบ BBL ของสำนักงบฯ ปรากฏว่าเมื่อรวบรวมแล้วได้ข้อมูลเพียง 3,366 แห่ง” นายเลอพงศ์ ระบุ