ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยแพร่ วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2565 โดยตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง “ลักษณะความเหลื่อมล้ำในแต่ละมิติของลูกบาศก์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : ข้อค้นพบจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน 2563” โดย ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย


งานวิจัยฉบับดังกล่าว ระบุว่า จาก 3 มิติของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้แก่ 1. ด้านค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสุขภาพ 2. ด้านประชากร 3. ด้านบริการสุขภาพ ส่วนที่มี “ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด” คือด้านบริการสุขภาพหรือคุณภาพ อันเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพแต่ละกองทุน (ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคม)
 
ทั้งนี้ สิทธิการรักษาของสวัสดิการข้าราชการมีคุณภาพบริการสูงกว่าสิทธิบัตรทอง-ประกันสังคม โดยความแตกต่างจากสิทธิของระบบบัตรทอง ถึงร้อยละ 70 และแตกต่างจากสิทธิของระบบประกันสังคมถึงร้อยละ 60 

ไม่เพียงเท่านั้น หากจำแนกจากเศรษฐฐานะครัวเรือน ความแตกต่างด้านความครอบคลุมของบริการสุขภาพระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด และกลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุด มีมากถึงร้อยละ 60
 
นอกจากนี้ แม้ว่าสิทธิการรักษาด้านครอบคลุมประชากรในระดับภูมิภาคมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ความครอบคลุมด้านการใช้จ่ายในบริการ จากการศึกษาพบว่าประชาชนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน (out-of-pocket expenditure) เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการเข้าถึงระบบสุขภาพภาครัฐของประชากรมีปัญหา
 
อีกทั้งโดยเฉลี่ยบริการด้านสุขภาพของ กทม. มีคุณภาพสูงกว่าภูมิภาคอื่นอีกด้วย อาทิ สูงกว่าภาคอีสานประมาณร้อยละ 30 รวมถึงในระดับเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ความครอบคลุมของบริการสุขภาพหรือคุณภาพของบริการของประชาชนในเขตเทศบาลมีสูงกว่าประชาชนนอกเขตเทศบาลร้อยละ 20
 
อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้อาศัยข้อมูลกลุ่มตัวอย่างผ่านการจำแนกประชากรกลุ่มย่อย (subpopulation) ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ เศรษฐฐานะครัวเรือน เพศ กลุ่มอายุ ภูมิภาค และในเขตนอกหรือเขตเทศบาล โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน พ.ศ.2563 ของสำนักสถิติแห่งชาติ จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 135,040 คน จาก 48,210 ครัวเรือน และความครอบคลุมด้านค่าใช้ในบริการการรักษาวัดจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริการของภคาเอกชน ซึ่งครอบคลุมค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยแตกต่างจากของภาครัฐที่ใช้งบประมาณเฉลี่ยรายหัวตามแต่ละกองทุน