ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม. เห็นชอบหลักการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ เพิ่มสวัสดิการ เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มการดูแลสุขภาพแรงงาน


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการ “ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 3 ฉบับ” ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจในบางประเด็นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นตามข้อเรียกร้องของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

สำหรับร่างประกาศแต่ละฉบับ มีสาระสำคัญดังนี้

1. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) มีเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิเช่น 1. กำหนดเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพิเศษตามมติ ครม. ตามความเหมาะสมและจำเป็นของกิจการ 2. กำหนดเพิ่มสิทธิลาคลอดบุตร จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน และ 3. กำหนดเพิ่มเติมให้เงินทดแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

2. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และค่าทดแทนการตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เพิ่มเติมประเด็นสำคัญ อาทิเช่น 1. กำหนดเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไปและถึงแก่ความตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานในปีที่จะเกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในอัตราเดียวกันกับเงินที่จะได้รับกรณีเกษียณ และ 2. กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวกรณีที่ลูกจ้างตายด้วยเหตุละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร, กระทำความผิดอาญาโดยเจตนา, เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่น, ฆ่าตัวตาย

3. ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19) เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้สอดคล้องกับสิทธิ UCEP ตามมติ ครม. วันที่ 8 มี.ค. 2565 โดยกำหนดให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีลักษณะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ผู้ป่วย กลุ่มสีเหลืองและสีแดง) มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเอง หรือคู่สมรสหรือบุตรของตนเอง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (สิทธิ UCEP) ส่วนในกรณีที่ไม่เข้าลักษณะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว) ให้มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด