ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงานเรื่อง ‘การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย – การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 โดยมีสาระสำคัญคือ การระบุถึงแนวทางปฏิรูปที่จำเป็น เพื่อรับมือกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ โดยปัจจัยท้าทายเหล่านี้รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ และสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รายงานฉบับนี้ ระบุด้วยว่า หลังจากที่มีการใช้นโยบายการคลังขนานใหญ่ในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังต้องควบคุมระดับหนี้สาธารณะไม่ให้สูงเกินไปด้วย

ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและความยืดหยุ่นมากขึ้นได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และการใช้นโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายที่เกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปทางการคลังของประเทศไทยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้

รายงานฉบันนี้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในด้านความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงนโยบายช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาต่อจำนวนนักเรียนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษายังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลเช่นกัน ดังนั้น การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในด้านเหล่านี้สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมและการพัฒนาทุนมนุษย์ การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลดผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัย วาตภัย และการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหนี้สาธารณะจะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยรายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่า ในระยะสั้น รัฐบาลสามารถเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านที่รัฐบาลมุ่งเน้นให้ความสำคัญ โดยสามารถบริหารจัดการการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ให้เหมาะสม

ในระยะยาวนั้น การรับมือกับภาระทางการคลังที่จะเกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น พร้อมกับบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รายงานฉบับนี้นำเสนอการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งเมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถเพิ่มรายได้ได้ราวร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ

ประกอบด้วยการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่างๆ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย และการขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยหากมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้

การปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมความให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยผลกระทบของการปฏิรูปด้านภาษีต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนสามารถได้รับการทดแทนโดยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่างๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้น

คิม อลัน เอ็ดเวิร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและหัวหน้าโครงการของธนาคารโลก กล่าวว่า การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเป็นเรื่องที่จำเป็น นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐผ่านมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และสาธารณสุข เช่น การใช้มาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนจะช่วยลดภาระทางการคลังแต่ยังสามารถลดระดับความยากจนได้

รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่า ด้านการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรในระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะส่งเสริมผลลัพธ์การเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้ ด้านสาธารณสุข การคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพและการให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันรักษาสุขภาพจะช่วยลดภาระและความจำเป็นของการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงในอนาคตได้ ทั้งนี้ การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย