ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ยืนยัน ภารกิจ รพ.สต. หลังถ่ายโอนไป อบจ. ยังเหมือนเดิม ระบุ ข้อเสนอของบประมาณอยู่ระหว่างพิจารณาโดยสำนักงบฯ


นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ให้ฝ่ายเลขานุการเตรียมการประชุมเพื่อพิจารณาข้อกังวลต่างๆ ที่ได้รับจากหน่วยงาน-บุคคล เกี่ยวกับเรื่องของการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

สำหรับการประชุมดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 ที่มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ติดตามข้อกังวลรวมไปถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

นายเลอพงศ์ กล่าวว่า แนวทางการถ่ายโอนฯ เขียนเอาไว้ว่าสิ่งที่ รพ.สต. เคยปฏิบัติอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเนื้องาน บุคลากร หรือการส่งต่อนั้น ตามกฎหมายกระจายอำนาจฯ ได้ระบุไว้ว่าให้ดำเนินการตามเดิมทุกเรื่อง แต่หากทำไปแล้วมีกฎหมาย-ระเบียบ-คำสั่งที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถทำได้ตามเดิม ก็จะมีการให้ส่วนราชการเข้าไปแก้ไข้กฎหมาย หรือประกาศในส่วนนั้น

นายเลอพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ในขณะนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อบจ. ได้มีการยื่นข้อมูลต่อสำนักงบประมาณเพื่อจัดทำงบประมาณไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือนบุคลากร หรืองบประมาณที่ รพ.สต. ขอมาเรื่องสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ ก็ได้ยื่นเข้าระบบการทำงบประมาณไปแล้ว ซึ่งสำนักงบประมาณก็จะพิจารณา-ตรวจสอบ-คัดกรองข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นเข้ามาต่อไป

ขณะเดียวกัน หาก อบจ. ต้องการขอรับถ่ายโอน รพ.สต. หรือบุคลากรเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น อบจ. ที่ยังไม่ได้รับการประเมินศักยภาพ 27 จังหวัด หรือ อบจ. ที่ได้รับการประเมินไปแล้ว 49 จังหวัด ก็สามารถยื่นเสนอเรื่องมาที่คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ได้ ในเดือน พ.ค. 2565 ตามที่ได้เขียนไว้ในแนวทางการถ่ายโอน ซึ่งจะมีการดำเนินการอีกครั้งสำหรับการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2567

“ความคืบหน้าด้านอื่นๆ ตอนนี้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง กระทรวงสาธารณสุข หลายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง กำลังไปดูว่ามีระเบียบมีคำสั่ง หรือประกาศ กฎหมายตัวไหนที่จำเป็นจะต้องแก้ในการปฏิบัติหน้าที่ของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จัดตั้งคณะทำงานตามที่มีการแจ้งมา ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินงานในการเข้าไปแก้ไขในสิ่งเหล่านี้” นายเลอพงศ์ กล่าว

นายเลอพงศ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนข้อกังวลว่าเมื่อถ่ายโอนไปแล้วจะสะดุดหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนทุกภารกิจอาจจะไม่ราบรื่น 100% เพราะในมุมของผู้ปฏิบัติและผู้ที่เกี่ยวข้องอาจมีความเห็นหรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลง โดยส่วนหนึ่งมองว่าการกระจายอำนาจตามประกาศเป็นเรื่องที่ดี ในขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่มองว่าจะได้ทำจริง หรือยังลังเลอยู่ว่าถ่ายโอนไปแล้วจะดีหรือไม่

อย่างก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าหากมีความเข้าใจที่ตรงกัน การถ่ายโอนฯ รพ.สต.ก็ไม่น่าเป็นอุปสรรคต่อการดูแลประชาชน ซึ่งขณะนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานทุกส่วนต่อไป

“ถ้าได้มีการเปลี่ยนผ่านหลังจาก 1 ม.ค. 2566 ไปอีกสัก 1-2 ปี ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าแนวทางวิธีปฏิบัติการถ่ายโอนจะไปทิศทางไหนอย่างไร เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ถึงแม้ว่าผ่านไปแล้วก็เชื่อว่าอาจมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม เพราะความคิดคนเราไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเราคงไม่สามารถห้ามความเห็นต่างได้ คงต้องมีบ้าง” นายเลอพงศ์ ระบุ