ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค แนะนำผู้ปกครอง หลังพาบุตรหลานไปรับวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก และงดให้ออกกำลังกายและงดทำกิจกรรมใช้แรงหนักอย่างน้อย 7 วัน


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า วัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก (Pediatric formulation dose) บรรจุในขวดแก้ว “ฝาขวดและฉลากสีส้ม” ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่สองในทวีปเอเชียถัดจากสิงคโปร์ที่ได้รับการส่งมอบวัคซีนสูตรสำหรับเด็กนี้ โดยล็อตแรกเข้าถึงประเทศไทยในวันที่ 26 ม.ค. 2565 และได้ทยอยจัดส่งอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละประมาณ 3 แสนโดส

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 5-11 ปี โดยมีแผนการจัดสรร คือ 1. บริการฉีดในสถานพยาบาล สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง-หืดหอบ โรคหัวใจและหลอดเลือด-หลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า รวมทั้งกลุ่มเด็กที่เรียนในระบบโฮมสคูล และกลุ่มที่อยู่นอกระบบการศึกษา 

2. การให้บริการฉีดในโรงเรียน สำหรับนักเรียนปฐมวัย และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โดยเริ่มบริการฉีดในนักเรียน ชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ก่อนเป็นลำดับแรก และชั้นปีอื่นถัดลงไปตามลำดับ สำหรับปริมาณการฉีด คือ 0.2 มิลลิลิตร หรือ 10 ไมโครกรัม วัคซีน 1 ขวดเมื่อเจือจางด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ 0.9% ก่อนใช้ สามารถฉีดได้ 10 โดส โดยเว้นระยะเวลาการฉีดห่างกันระหว่าง 3-12 สัปดาห์

นพ.โอภาส กล่าวว่า ก่อนเข้ารับการฉีด หากเด็กมีอาการป่วย มีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาอาการให้หายจนกว่าจะเป็นปกติ สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวรุนแรง อาการยังไม่คงที่ อาจมีอันตรายถึงชีวิตควรเข้ารับการประเมินอาการจากแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการฉีด

“อาการที่พบได้หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ คือ ปวด บวม แดง เฉพาะที่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นไข้ จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานที่ฉีดวัคซีนด้วยเสมอ และอาการดังกล่าว สามารถหายได้เองเมื่อรับประทานยาลดไข้และพักผ่อนให้เพียงพอ หลังฉีดวัคซีน 1 สัปดาห์ ผู้ปกครองควรดูแลไม่ให้บุตรหลานออกกำลังกาย ปีนป่าย ว่ายน้ำ หรือกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และหากเกิดอาการรุนแรงหลังรับวัคซีน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียนทานอาหารไม่ได้หรือซึมไม่รู้สึกตัว ควรพบแพทย์ทันที หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์และกุมารแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย รักษาและการติดตามผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน  จึงขอให้ผู้ปกครองมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ตามนโยบายการฉีดวัคซีนให้เด็กถ้วนหน้าให้ดีที่สุด ที่ยึดประโยชน์ของผู้ปกครองและประชาชนไทยทุกคนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ขอฝากผู้ปกครองและครูดูแลเรื่องการป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดนเน้นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ หลังเวลาเล่นหรือเมื่อทำกิจกรรมในชั้นเรียน และทำความสะอาดร่างกายเมื่อกลับถึงบ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422