ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเพื่อนโรคไตฯ จับตาสถานการณ์หลังมติบอร์ด สปสช. เห็นชอบให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการ "ล้างไตผ่านทางช่องท้อง" สามารถเลือกใช้วิธี "ล้างไตด้วยการฟอกเลือด" ได้โดยไม่จ่ายเงินเอง ชี้หากพบปัญหาในทางปฏิบัติจะรวบรวมข้อมูลหารือ สปสช.ต่อไป


นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "The Coverage" ถึงกรณีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง สามารถเลือกใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือดได้โดยไม่จ่ายเงินเอง โดยระบุว่าขณะนี้ยังไม่เห็นประกาศอย่างเป็นทางการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะเขียนออกมาอย่างไร จึงยังไม่สามารถแสดงความเห็นได้

นายธนพลธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามโดยหลักการแล้ว การจะล้างไตทางช่องท้องหรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ไม่ใช่จะเลือกได้ตามใจชอบ แต่ต้องมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแลก่อน ถึงความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ระยะทางจากบ้านไปยังหน่วยฟอกไต ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจะสร้างภาระแก่ครอบครัวหรือไม่ เพราะสัปดาห์หนึ่งต้องฟอกเลือด 3 ครั้ง หรือ มีผู้ดูแลพาไปส่งที่หน่วยฟอกไตหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างต้องเหมาะกับบริบทผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเปลี่ยนไปแน่นอนหากให้ผู้ป่วยเลือกใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือดได้ คือจำนวนหน่วยบริการควรต้องมีเพิ่มมากขึ้น ต้องกระจายตามพื้นที่ห่างไกลให้มากขึ้น ประการต่อมาคือจำเป็นต้องมีบุคลากรทางด้านนี้เพิ่มขึ้น เช่น พยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาล อาจต้องเพิ่มอีกหลายร้อยอัตรา รวมทั้งการบริหารคิวการผ่าตัดใส่สายล้างช่องท้อง ที่เป็นคำถามว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

"ตอนนี้ขอดูสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไปก่อน ว่าจะมีปัญหาอะไรในทางปฏิบัติหรือไม่ หากพบว่ามีประเด็นเกิดขึ้น เราจะได้รวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้ สปสช. และหน่วยบริการในการหารือแก้ไขกันต่อไป" นายธนพลธ์ กล่าว