ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาพบรรยากาศคณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.อภิชาติรอดสม รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ “กปท. (เทศบาลตำบล) ธารเกษมเชิงรุกลดความเสี่ยงชะลอไตเสื่อม : โครงการส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง” ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ธารเกษม ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตรีบุญโสภณ และโรงพยาบาลพระพุทธบาท จ.สระบุรี

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยใช้งบประมาณจาก กปท. หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ สปสช. ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันเทศบาลตำบลธารเกษมมีผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตวายที่มีโรคเบาหวานและความดันโลหิตควบคู่ด้วยจำนวนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องได้รับการ “ชะลอความเสื่อมของไต” เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี พื้นที่เทศบาลตำบลธารเกษม อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยการดูแลของโรงพยาบาลรพ.สต.ตรีบุญโสภณ มีอัตราผู้ป่วยโรค NCDs จำนวน 442 ราย แบ่งออกเป็น 1. โรคเบาหวาน 174 ราย รักษาที่ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ 68 ราย คิดเป็นร้อยละ 39.08 2. โรคความดันโลหิตสูง 268 ราย รักษาที่ รพ.สต.ตรีบุญโสภณ 155 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.83 และ 3. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง จำนวน 225 ราย รักษาที่ รพ.สต. ตรีบุญโสภณ 223 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.45 และฟอกเลือดที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท 2 ราย 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวน 223 ราย ที่รักษาอยู่ที่คลินิกโรคเรื้อรัง รพ.สต.ตรีบุญโสภณ จะได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมสุขภาพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง ใน 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. การดูแลตนเอง การลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะทางไต 2. การสาธิตการประกอบอาหารที่มีรสจืด ใส่เครื่องปรุงรสน้อยลง 3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง “กราฟชีวิตพิชิตโรค”

สำหรับผลการจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค และชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวาน วามดันโลหิตสูงที่ผ่านมา จากข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรังติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ปี 2565 พบว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มค่าการทำงานของไตดีขึ้นถึง ร้อยละ 51.12