ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (Renal Replacement Therapy in Chronic Kidney Disease Patients) เพื่อรอการปลูกถ่ายไตซึ่งถือเป็นปลายทางของการรักษา

การบำบัดทดแทนไตมีค่าใช้จ่ายสูง หากผู้ป่วยต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่ายเอง ย่อมเป็นภาระของครัวเรือนจนถึงขั้นสามารถล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้

ทว่า สำหรับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว สามารถเข้าถึงการบำบัดทดแทนไตได้ โดยไม่เสียเงิน-เสียทองแต่อย่างใด

สปสช. ดำเนินนโยบาย “ล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง” (Peritoneal dialysis First policy) มาตั้งแต่ปี 2551 ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบำบัดทดแทนไตมากขึ้น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานและใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ลดอัตราการเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล

มากไปกว่านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นมา สปสช. ยังได้เพิ่ม ‘ทางเลือก’ ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง โดยให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์ในการ ‘เลือกวิธีฟอกไตด้วยตนเองตามแบบที่เหมาะสม’ ได้

  1. ล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง โดย สปสช. จัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน
  2. ฟอกเลือกด้วยเครื่องไตเทียมฟรี

ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เข้ารับบริการบำบัดทดแทนไต สะสมตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2565 จำนวนรวม 82,463 คน (โดยนับรวมผู้ป่วยฯ ที่เสียชีวิตภายในปี หรือเปลี่ยนวิธีการบำบัดทดแทนไตภายในรอบปี) โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 รวมจำนวน 64,516 คน

ทั้งนี้จำแนกเป็น

1

1. บริการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) จำนวน 29,572 คน โดยรับบริการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 จำนวน 19,817 คน มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนเฉพาะด้านฯ จำนวน 283 แห่ง

2. บริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) จำนวน 2,325 คน โดยรับบริการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 จำนวน 1,885 คน

3. บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) จำนวน 46,868 คน โดยรับบริการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 จำนวน 40,113 คน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 สามารถให้ผู้ป่วยเลือกวิธีฟอกไตตามแบบที่เหมาะสม โดยผู้ป่วยสามารถรับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องเทียมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนเฉพาะด้านฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 787 แห่ง

4. บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรายใหม่ (HD Self pay) ที่ไม่ประสงค์รับบริการล้างไตผ่านช่องท้อง และไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ โดยกองทุน โดยได้รับสนับสนุนเฉพาะค่ายากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (Erythropoietin: EPO) จำนวน 871 คน ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยฟอกเลือกด้วยเครื่องไตเทียม ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

5. บริการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (KT) รายใหม่ในปี 2565 จำนวน 167 คน หน่วยบริการขึ้นทะเบียนเฉพาะด้านผ่าตัดปลูกถ่ายไต จำนวน 26 แห่ง

6. บริการรับยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไต ทั้งรายเก่าและรายใหม่ จำนวน 2,660 คน โดยการรับบริการ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 จำนวน 2,534 คน หน่วยบริการขึ้นทะเบียนเฉพาะด้านจ่ายยากดภูมิปลูกถ่ายไต จำนวน 28 แห่ง

สำหรับภาระงบประมาณที่ต้องใช้ จะเป็นไปตามตารางดังต่อไปนี้

2

1

2