ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

9 ล้านคนของประชากรไทย เป็นผู้ป่วยโรคไต ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสูงถึง 1.1 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

หลายคนรู้ดีว่าสาเหตุของโรคไต มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งหากผู้ป่วยทั้ง 2 โรค ควบคุมตัวเองได้ไม่ดี ก็โอกาสสูงทีเดียวที่จะเป็นโรคไต และก้าวไปสู่การเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องเข้าสู่การรักษา

แต่ที่น่าตกใจ หลังจากที่ “The Coverage” ได้คุยกับ นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ก็พบว่า ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่นพ.วุฒิเดช ให้นิยามว่าเริ่มคุกคามประชาชน

นั่นคือ อาหารเสริม และยาสมุนไพร ที่เกินความจำเป็น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำร้ายไตของคนไทยมากขึ้น

นพ.วุฒิเดช บอกว่า ประเด็นอาหารเสริม และสมุนไพรที่ไม่จำเป็น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เริ่มเป็นสาเหตุของโรคไตในหมู่คนไทย เพราะการกินอาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ไม่จำเป็น จะยิ่งทำให้ร่างกายทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ และทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้นด้วย อย่างเช่น ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเห็ดหลินจือ ยาตัวนี้เป็นอันตรายต่อไต มีการโฆษณาว่าช่วยรักษาไต แต่ความจริงคือทำให้ไตวายเร็วกว่าเดิม

"มีคนเถียงว่า กินแล้วดีไม่ต้องล้างไต ใช่ครับ ไม่ต้องล้างไต เพราะกินแล้วใกล้ตาย เลยทำให้ไม่ต้องล้างไต หรือไม่ต้องรักษาแล้ว" นพ.วุฒิเดช ย้ำจนเห็นภาพ

อย่างไรก็ตาม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย พยายามเกาะติดเรื่องนี้ โดยเฉพาะโฆษณาชวนเชื่อที่ผิด และอ้างถึงสรรพคุณของอาหารเสริม หรือยาสมุนไพรต่างๆ ที่อ้างว่าช่วยรักษาโรคไตได้ โดยจะนำข้อมูลไปแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแพทยสภา เพื่อให้ดำเนินการกับผู้ที่ให้ข้อมูลผิดๆ กับสังคม เพราะมีคนไข้หลายส่วนที่ค่าไตแย่ลง และสืบหาสาเหตุก็พบว่ามาจากการรับประทานอาหารเสริม สมุนไพรที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ไตเสื่อมมากขึ้นกว่าเดิม

"ถ้ายังไม่เป็นโรคไต ต้องรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย รู้จักกิน และหลีกเลี่ยงอาหารเสริม สมุนไพร แต่เมื่อเป็นแล้วก็ต้องรักษาโรคให้ดี และเมื่อถึงระยะท้ายแล้ว โดยทั่วไปก็ต้องปรึกษากับแพทย์โรคไตเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ร่วมกัน หากทำอย่างถูกต้องก็อยู่ได้เป็นสิบๆ ปี"

1

ปี 2565 ใช้เงินรักษาผู้ป่วยไตวาย 2 หมื่นล้าน

พฤติกรรมของผู้คนทำให้ป่วยเป็นโรคไต สิ่งที่ตามมาคือการรักษา โดยปัจจุบันในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ผู้ป่วยโรคไตสามารถเลือกวิธีการรักษาได้เอง โดยร่วมกันปรึกษากับแพทย์ตั้งแต่ 1 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้อง หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

จากนโยบายดังกล่าวของภาครัฐ นพ.วุฒิเดช สะท้อนอีกว่า ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้มากขึ้น แต่อีกด้านก็ทำให้บุคลากรแพทย์ พยาบาล ต้องรับภาระหนักขึ้น รวมไปถึงกระเทือนถึงงบประมาณที่ใช้ในการรักษาด้วยเช่นกัน

ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องใช้เงินไปราว 2 หมื่นล้านบาท เป็นค่ารักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีอยู่ 1.1 แสนคนจากทุกสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นค่ารักษาที่รวมการล้างไตผ่านทางช่องท้อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และค่ายารักษา

นพ.วุฒิเดช ให้ภาพอีกว่า จากตัวเลขนี้เห็นได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างมากสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยโรคไตก็เข้าสู่ระดับไตวายเรื้อรังมากขึ้นด้วย เพราะสาเหตุสำคัญคือ พฤติกรรมของคนไทยที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน ซึ่งนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรือรังที่เป็นสาเหตุนำไปสู่โรคไต โดยเฉพาะกับเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ที่สัดส่วนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ก็เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคไต และก้าวไปสู่โรคไตวายเรื้อรังในระยะที่ต้องรักษาตัว

"แต่หากผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ดูแลตัวเองได้ดี คุมโรคไม่ให้ลุกลามได้ หากเดินเข้าสู่โรคไตก็จะคุมได้ง่าย ไม่ให้เป็นไตวายเรื้อรัง แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุมไม่ได้ อาการก็จะลุกลาม ซึ่งก็อยู่ที่พฤติกรรมของผู้ป่วยเองด้วย ว่าจะเลือกทางไหน"

เลือกวิธีรักษาเอง แต่มักไม่เลือกรักษากับแพทย์

ประเด็นที่ผู่ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้นั้น นพ.วุฒิเดช ให้ภาพอีกมุมหลังจากรวบรวมข้อมูล และพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการรักษา และมักจะเลือกและตัดสินใจผ่านการชักชวนของเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันเองในแบบ "ฟังเขาพูดมา" ซึ่งในความจริงแล้ว กระบวนการรักษาแบบไหนก็ตาม ควรพิจารณาร่วมกันกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ บ่อยครั้งเราจึงเจอปัญหาตามมาไม่น้อย

"ผู้ป่วยบางคน อาจไม่เหมาะกับการฟอกเลือดเพราะความดันตกง่าย เมื่อเลือกมาแล้วพยาบาลก็รักษาให้ แต่ทำให้ดึงเลือดออกมาบำบัดใหม่ไม่ได้เต็มที่ ก็ส่งผลให้การฟอกเลือดไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาด้วย เรายังเคยเจอเคสบางรายที่ตายคาเครื่องฟอกไตก็ยังมี" นพ.วุฒิเดช กล่าว

นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ย้ำอีกว่า ในหลายครั้งการรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ผู้ป่วยเลือกวิธีรักษาที่ผิดได้ แต่หากได้พิจารณากับแพทย์เฉพาะทางก็จะเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะแพทย์จะรู้ถึงพฤติกรรม สภาพแวดล้อมของผู้ป่วยว่าเหมาะสมกับการรักษาแบบใด การล้างไตทางช่องท้องทำถูกวิธีก็อยู่ได้นับสิบปี ซึ่งการพิจารณาของแพทย์จะเข้มงวดมาก

3

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการผ่าตัดทางช่องท้องมาก่อน หรือมีผังผืดอยู่ตามช่องท้อง แพทย์จะไม่ให้ทำการรักษาแบบล้างไตทางช่องท้องเด็ดขาด หรือการไปเยี่ยมบ้านผู้ปวยเพื่อดูสถานที่ที่จะล้างไตได้เองที่บ้าน หากพบว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่เหมาะสม ก็จะไม่อนุญาตให้ทำเช่นกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือต้องปรับปรุงให้เหมาะสมก่อน ดังนั้น การปรึกษากับแพทย์เพื่อพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมร่วมกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

การเข้าถึงระบบบริการที่มากขึ้น ย่อมเป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตัวอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับโรคไต ที่เลือกวิธีรักษาได้เอง อีกมุมก็่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีงานที่เพิ่มมากขึ้น นพ.วุฒิเดช บอกกับเราว่า ต่อให้เพิ่มจำนวนบุคลากรอีกเท่าใด ก็ยากจะเพียงพอ

"งานของแพทย์ พยาบาลก็มากขึ้นเช่นกัน และต่อให้เพิ่มอีกเท่าใดก็ยากที่จะรองรับผู้ป่วยได้ในเร็ววัน เพราะปัจจุบันพยาบาลที่เชี่ยวชาญดูแลโรคไตวายเรื้อรังมีอยู่ราว 2,000 คนทั่วประเทศที่กระจายอยู่ศูนย์ไตเทียม เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่ 1.1 แสนคน ก็ไม่ครอบคลุม มันจึงเกิดความเครียดของแพทย์ที่เพิ่มขึ้น เมื่อมาเจอคนไข้ที่เลือกการรักษาเองโดยไม่ฟังความเห็นของแพทย์เลย ก็ยิ่งหนักไปใหญ่”

นพ.วุฒิเดช บอกในตอนท้ายด้วยว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้คุยกันแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน และจะผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคไตจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญอย่างครบทุกมิติ รวมถึงจะออกแบบแนวปฏิบัติที่ให้ผู้ป่วยได้ประเมินตัวเองได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการช่วยให้ผู้ป่วยเลือกวิธีการรักษาได้ถูกต้องมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าผู้ป่วยจะเลือกรักษาตัวด้วยวิธีไหน ก็ขอให้ปรึกษากับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ อย่าฟังจากเพื่อน หรือสังคมภายนอกเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้การรักษาที่ควรจะมีประสิทธิภาพ กลับทำให้สภาพร่างกายของผู้ป่วยแย่ลง