ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“วันไตโลก ปี 2566” สปสช. ร่วมรณรงค์ภายใต้คำขวัญ ”ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” เพื่อคนไทยลดปัจจัยเสี่ยง ห่างไกลโรคไต พร้อมเผย ปี 2565 กองทุนบัตรทอง มีผู้ป่วยโรคไตในระบบ 6.2 หมื่นคน ขณะที่นโยบาย “ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเลือกวิธีฟอกไตแบบที่เหมาะสมได้ทุกคน” ดูแลผู้ป่วยโรคไตแล้ว 1.7 หมื่นคน


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็น ‘วันไตโลก’ หรือ ‘World Kidney Day’ โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม รณรงค์ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักต่อภัยร้ายจากโรคไต ที่ทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ และที่สำคัญยังเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูงที่เป็นภาระต่อการรักษาพยาบาล กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวได้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ได้บรรจุให้การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นสิทธิประโยชน์ระบบดูแบ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 จากนโยบาย “ล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก” (CAPD First Policy) ด้วยขณะนั้นยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านงบประมาณ หน่วยบริการล้างไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียม และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลยังไม่เพียงพอ ซึ่งการล้างไตผ่านช่องท้องนั้นผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ มีความสะดวก ไม่ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการ ดำเนินการควบคู่กับสิทธิประโยชน์ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในรายที่ไม่สามารถใช้วิธีล้างไตทางช่องท้องได้ และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง

1

สำหรับสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง สปสช. ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากครอบคลุมบริการที่จำเป็นแล้ว เช่น น้ำยาล้างไตซึ่งจัดส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง (EPO) บริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ที่ทำให้ผู้ป่วยล้างไตขณะหลับช่วงเวลากลางคืนได้ และสามารถทำงานหรือเรียนเป็นปกติในช่วงกลางวัน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการนโยบาย “ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเลือกวิธีฟอกไตแบบที่เหมาะสมได้ทุกคน” ที่เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบ ตัดสินใจร่วมกับแพทย์เลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมได้ทุกคน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เปิดให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกวิธีล้างไตกับแพทย์ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของระบบบัตรทอง 30 บาท

“จากข้อมูล สปสช. ปี 2565 บัตรทองดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ 62,478 คน แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 18,478 คน ล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ 1,234 คน และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 40,086 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยฟอกไตตามนโยบายใหม่นี้ 17,000 คน นอกจากนี้มีผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไต 146 คน และผู้ป่วยรับยากดภูมิหลังปลูกถ่ายไต 2,534 คน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากคำขวัญวันไตโลกปีนี้ ”ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” สปสช. ขอร่วมรณรงค์ให้คนไทยตระหนัก ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไต นอกจากนี้ สปสช. ยังได้มีประโยชน์การบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ทีเป็นการดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อนำไปสู่การป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังไตวายระยะสุดท้าย

2

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ