ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.โอนค่าบริการกรณีโควิด-19 เดือน ต.ค.-พ.ย. 64 จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท ให้หน่วยบริการที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ทั้งบริการคัดกรอง-รักษาพยาบาล-ดูแลที่บ้าน/ชุมชน และ UCEP COVID-19 (เจ็บป่วยฉุกเฉิน/โควิด) พร้อมขอบคุณหน่วยบริการดูแลประชาชนช่วงสถานการณ์โรคระบาดร่วมกัน


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สปสช. ได้ดำเนินการขอรับงบประมาณเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ สำหรับบริการโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามที่ได้ประสานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 เพื่อเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในช่วงสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้กับหน่วยบริการที่ยังรอจ่ายค่าบริการชดเชย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 ในฐานะเลขาธิการ สปสช. ได้ดำเนินการลงนามเพื่ออนุมัติโอนค่าบริการฯ สำหรับเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 แล้วให้กับหน่วยบริการแล้วรวมจำนวน 21,203,33 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าบริการตรวจคัดกรองและรักษาพยาบาลจำนวน 17,401.61 ล้านบาท ค่าบริการระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation/ Community Isolation : HI/CI) จำนวน 31,640,000 ล้านบาท และค่าบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโรคโควิด 19 (UCEP COVID - 19) จำนวนเงิน 3,770.08 ล้านบาท

“ขณะนี้ สปสช. ได้ดำเนินการโอนค่าบริการกรณีโควิด-19 ที่หน่วยบริการให้บริการในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 แล้ว หลังจากที่ได้รับงบประมาณ พรก.กู้เงินฯ ซึ่ง สปสช.ไม่ได้นิ่งนอนใจในการเร่งจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการที่ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใด ซึ่ง สปสช. ต้องขอบคุณทุกหน่วยบริการ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้ดูแลประชาชนในสถานการณ์โรคระบาดร่วมกัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว