ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. เหตุทำให้ระบบสาธารณสุขปั่นป่วน


นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา ได้ทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” เรื่องขอให้ยับยั้งการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ถึง “นายกรัฐมนตรี”

​สำหรับสาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้ ระบุว่า เนื่องด้วยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดเร่งรัดให้มีการถ่ายโอนรพ.สต. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไป อบจ. ซึ่งมี รพ.สต. ยื่นความประสงค์ขอถ่ายโอนทั้งสิ้น 3,036 แห่ง และมี อบจ. ยื่นขอรับการถ่ายโอนทั้งสิ้น 49 แห่ง โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมิน กำหนดให้ถ่ายโอนอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง สำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับดี 2 แห่ง สำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ดีมาก และทุกแห่งสำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ดีเลิศ

​ทั้งนี้จากการพิจารณา คณะกรรมาธิการสาธารณสุขเห็นว่า การรวบรัดดำเนินการดังกล่าวอาจจะนำมาซึ่งปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต ด้วยเหตุผลดังนี้

1. บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะถ่ายโอนยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่ได้พิจารณาประชุมเรื่องนี้

2. พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2546 กำหนดให้มีแผนและขั้นตอน แต่การถ่ายโอนไป อบจ. ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากการถ่ายโอนที่ผ่านมา 51 แห่ง ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นการถ่ายโอน รพ.สต. ไปองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลเท่านั้น จึงไม่มีแผนและขั้นตอนการถ่ายโอนไป อบจ. ให้บุคลากรด้านสาธารณสุขรับทราบแต่อย่างใด

3. หลังจากปี 2542 มี พ.ร.บ.ออกมาใช้บังคับอีกหลายฉบับทั้ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 มีการเปลี่ยนแปลงและแนวคิดด้านกระจายอำนาจหลายประการแตกต่างจากแนวคิดปี 2542 จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกฉบับโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ

4. ระบบสาธารณสุขและเครือข่ายสาธารณสุขใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รวมทั้งระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิ ใน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มีลักษณะเป็นพวงบริการและมีระบบส่งต่อผู้ป่วยไประหว่างเครือข่าย ไม่ได้มีลักษณะ Stand alone เหมือนบริการสาธารณะอื่น

5. ระบบสาธารณสุขมีการวางรากฐานและการพัฒนาเป็นขั้นตอนมาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี ทั้งสาธารณสุขมูลฐาน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สุขศาลา สถานีอนามัย รพ.สต. และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จนสร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เคยขึ้นถึงอันดับ 6 ของโลกมาแล้ว

6. การจัดสรรงบอุดหนุนจากท้องถิ่นมาสมทบที่ดี ทำให้ รพ.สต. ได้งบประมาณเข้ามาเติมในระบบ แต่ควรคำนึงถึงระยะยาวว่า อาจเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินหรือไม่ เพราในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพียง 8 ปี ท้องถิ่นให้งบอุดหนุนเพิ่มมากถึง 726 ล้านบาท สำหรับ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนเพียง 51 แห่ง

7. การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นนโยบายสาธารณะที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน จึงสมควรดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นขั้นตอน ผ่านการวิจัยและทดลองไปตามลำดับขั้น

8. การกระจายอำนาจเป็นหลักการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและทำให้มีส่วนร่วม แต่การกระจายอำนาจมีหลายวิธี ไม่ใช่เพียงการถ่ายโอนเท่านั้น เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) หรือการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่ทดลองให้มีเขตสุขภาพในพื้นที่นำร่องใน 4 เขตภูมิภาค กระจายทั่วประเทศ ประชาชนได้รับประโยชน์ และอยู่ในระหว่างดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้

9. นโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง สมควรทำประชามติหรือสอบถามประชาชนโดยตรงว่า เห็นด้วยหรือไม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการในขณะนี้

10. ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วในการควบคุมการระบาดของโรค Covid-19 และในอนาคตอาจมีการระบาดของโรคระบาดใหม่ที่อาจมีความรุนแรงกว่าเดิม ต้องอาศัยเครือข่ายของระบบสาธารณสุขที่จะต้องทำงานประสานกันเหมือนปัจจุบัน ซึ่งไม่ควรแยกจากกัน เพราะอาจสร้างปัญหาเหมือนกรุงเทพมหานครดังที่ผ่านมา

“จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้น คณะกรรมการได้ขอให้มีการพิจารณาจัดให้มีคณะกรรมการศึกษากรณีการถ่ายโอนครั้งนี้ให้รอบคอบ ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพราะการดำเนินการที่เร่งรัดดำเนินการจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในลักษณะที่ยากต่อการแก้ไขต่อไป” หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุ