ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เร่งช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ผู้เสียชีวิตอีก 2 รายจากนนทบุรี-ศรีสะเกษ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เตรียมนำเรื่องสู่อนุกรรมการฯ ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระดับเขตพิจารณาเยียวยา


นางจินตนา กวาวปัญญา หัวหน้าหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5) ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เพื่อเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาและประสานช่วยเหลือครอบครัว นายสมบูรณ์ บุตรวงษ์ อายุ 54 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ทั้งนี้ได้ดำเนินการประสานกับกลุ่มงานประกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.) และ สภ.ปลายบาง จ.นนทบุรี พร้อมทั้งส่งทีมงานลงพื้นที่ห้องพักในพื้นที่ หมู่ 7 ซอยวัดหูช้าง ถนนนครอินทร์ ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านนายสมบูรณ์ในการประสานการช่วยเหลือ ซึ่งนายสมบูรณ์ได้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเพชรเวช กทม.

อย่างไรก็ตามจากการฉีดวัคซีนของ นายสมบูรณ์ โดยฉีดเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 และฉีดเข็มที่ 2 วันที่ 18 ต.ค. 2564 ซึ่งหลังจากฉีดโควิด-19 เข็มที่ 2 แล้ว มีอาการแขนขาอ่อนแรง ไม่มีแรง เหนื่อย ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ จึงเกิดความเครียด เนื่องจากมีภาระที่ต้องดูแลพี่ชายที่พิการและภรรยาที่ป่วยหนักด้วย  

“การช่วยเหลือได้ให้บุตรสาวของนายสมบูรณ์เขียนแบบคำร้อง เพื่อยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมี สสจ.นนทบุรี เป็นผู้รับคำร้อง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพในคราวนี้ด้วย” นางจินตนา กล่าว

ด้าน นางมลุลี แสนใจ รองผู้อำนวยการ สปสช. เขต 10 อุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีของ นายสุรัตน์ ศรปัญญา อายุ 68 ปี ที่เสียชีวิตหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ที่ รพ.สต.สร้างเหล่า ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 ตนพร้อมด้วย นพ.อดุลย์ โบจรัส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรารมย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธรณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.สร้างเหล่า จึงได้รุดเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต และประสานการช่วยเหลือ

นางมลุลี กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียนี้ ซึ่งผู้ได้รับความเสียหายหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อยจนถึงภาวะรุนแรง รวมถึงกรณีเสียชีวิต จะมีกลไกดูแลในการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่มุ่งบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน และจะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด

“การมาเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตวันนี้ ได้มารับคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ด้วย และจะรีบนำเรื่องเข้าสู่ณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ของเขตต่อไป” รอง ผอ.สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี กล่าว

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. กรณีเจ็บป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท 2. กรณีความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท 3. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท

อนึ่ง ผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องได้ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สปสช. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ จะพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330

ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่ https://www.nhso.go.th/storage/files/841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf