ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพราะเราคือบุคลากรสาธารณสุข ศัตรูของเราคือความเจ็บป่วย

นี่คือความคิดรวบยอดที่สะท้อนถึงปณิธานของ “โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี” ท่ามกลางสมรภูมิโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์อย่างโควิด-19

ในวันที่หน่วยบริการตึงมือจากจำนวนผู้ติดเชื้อล้นทะลัก และยังเป็นช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีมาตรการลดความแออัดของ “เตียง” ด้วยแนวทางการรักษาตัวที่บ้านและชุมชน (Home-Community Isolation : HI-CI) โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี ตกอยู่ในสภาพการณ์ไม่ต่างไปจากโรงพยาบาลอื่นๆ

ทว่า วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี คือการนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาใช้ในองค์กรเพื่อสนับสนุนการให้บริการสาธารณสุขและการให้การรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วยจากโควิด-19

นพ.ธีรวัฒน์ วงศ์สุวรรณะทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี บอกเล่ากับ “The Coverage” โดยเท้าความกลับไปในช่วงพีคโควิด-19

ในช่วงที่การระบาดรุนแรงนั้น โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี ต้องรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ราว 60-70 เตียง และยังดูแลผู้ป่วยที่ต้องรอสังเกตอาการที่บ้านอีกจำนวนหนึ่ง นั่นทำให้เราต้องใช้ศักยภาพทั้งหมดอย่างเต็มที่เพื่อดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ

ปัญหาที่โรงพยาบาลเจอในขณะนั้น คือการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ (Healthcare staffs Shortage) บุคลากรเริ่มอ่อนล้า เตียงที่ต้องใช้ดูแลผู้ป่วยเริ่มขาดแคลน อัตราการครองเตียงนานขึ้น ตลอดจนอุปกรณ์-ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ในขณะที่ความต้องการกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ด้วยโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลอื่นๆ ใน จ.ชลบุรี ทำงานในลักษณะเป็นเครือข่าย มีการประสานงาน รับ-ส่งต่อ ระหว่างกัน ตรงนี้ก็ช่วยได้มาก แม้ว่าบุคลากรจะเหนื่อยล้า แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค

สิ่งที่ช่วยให้สถานการณ์ภาพรวมของโรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี ดีขึ้น คือความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลเครือข่ายของจังหวัดชลบุรีทั้งหมดไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน  ตามการขอความร่วมมือและการบริหารจัดการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.)

แม้ว่าโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน หากแต่ในชวงวิกฤตการณ์ การทำงานนั้นไม่มีการแบ่ง “รัฐ-เอกชน” ที่สำคัญคือไม่มีการมองเรื่องกำไร-ขาดทุนเป็นประเด็นหลัก ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายสุขภาพที่ทำให้เราผ่านพ้นความยากลำบากมาได้

“เพราะเราคือบุคคลากรสาธาราณสุข ในสถานการณ์ที่ทุกคนก็พบกับความยากลำบาก เราดูเรื่องความเจ็บป่วยเป็นหลัก และก็โชคดีที่เราได้ทำงานเป็นเครือข่ายเดียวกันในเรื่องของการดูแลสุขภาพ แต่ก็ขึ้นกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาลที่ต้องบริหารจัดการ” นพ.ธีรวัฒน์ ระบุ

นพ.ธีรวัฒน์ เล่าต่อไปว่า นอกจากความร่วมมือในภาพใหญ่แล้ว อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยมีจำนวนมาก คือการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบ HI ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ป่วยที่สามารถสังเกตอาการด้วยตัวเองที่บ้าน และช่วยให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ด้วย

“โรงพยาบาลใช้ระบบการเชื่อมต่อผ่านระบบการแพทย์ทางไกล ที่ทำให้แพทย์สามารถติดตามอาการหรือดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด”

ในการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบ HI และ Hospitel ตัวช่วยสำคัญที่สุดคือ “เทคโนโลยีที่เรียบง่าย” ทางโรงพยาบาลจึงได้นำแอปพลิเคชันที่ถูกออกแบบขึ้นมาเป็นอย่างดีเข้ามาช่วย เพราะการดูแลผู้ป่วยในลักษณะแบบนี้จะต้องดูเรื่องความปลอดภัย ควบคู่ไปกับความเป็นส่วนตัว ความสะดวก รวมถึงระบบการจัดการข้อมูลด้วย

“Telemedicine สำหรับ HI มันมากกว่าเพียงแค่การโทรเข้าโทรออกอย่างเดียว” นพ.ธีรวัฒน์ ระบุ

โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี ได้พิจารณาจากหลายปัจจัยเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความจริงในการใช้งานมากที่สุด สุดท้ายตัดสินใจเลือก Dietz Covid Tracker Telemedicine เป็น application platform สำหรับการให้บริการด้าน Home isolation  เนื่องจากสามารถบริหารข้อมูล, ติดต่อและเก็บข้อมูลสุขภาพเพื่อนำมาประเมินผลได้ และยังทีมงาน admin ที่เข้าใจปัญหาในวงการสาธารณสุขเป็นอีกปัจจัยของการเลือกใช้ platform นี้

“ผมว่าความยากง่ายของ application และ platform นั้นอยู่ที่การปรับตัวเพื่อเรียนรู้ ผมไม่ประเมินความยากง่ายของแพลตฟอร์ม ผมประเมินความเหมาะสม และทีมซัพพอร์ตที่พร้อมจะตอบคำถาม ข้อสงสัย หรือไขข้อสงสัยของผู้ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าด้วย Mindset เหล่านี้มากกว่าที่เราเลือก” นพ.ธีรวัฒน์ ระบุ

นพ.ธีรวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า รูปแบบของ Telemedicine  คือการลดระยะห่าง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษา ซึ่งแพลตฟอร์มที่โรงพยาบาลนำมาใช้ช่วยตอบโจทย์ โดยในส่วนของการใช้งานนั้น เพียงพอต่อการใช้งานที่สอดคล้องกับขนาดของโรงพยาบาล และเคสผู้ป่วยใน HI และ Hospitel

สำหรับ Dietz Covid Tracker Telemedicine ที่พัฒนาโดย www.dietz.asia เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อโควิดในระบบ HI-CI ตลอดจน Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ได้รับการติดตามและสามารถพูดคุยกับแพทย์ได้ผ่านวิดีโอคอล โดยจะมีการเชื่อมข้อมูลการลงทะเบียนคนไข้เพื่อที่จะเข้าระบบได้อย่างอัตโนมัติ

พร้อมกันนี้ ยังช่วยโรงพยาบาลบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นระดับออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิ รวมถึงอาการต่างๆ โดยข้อมูลเหล่านั้นจะได้รับการบันทึกเข้าไปในระบบและเชื่อมกลับไปยังโรงพยาบาลด้วย ซึ่งช่วยให้สามารถนำหลักฐานเข้ารับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับกองทุนสุขภาพ ทั้ง สปสช. ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ UCEP และประกันสุขภาพเอกชนได้สะดวกขึ้น

“การนำเทคโนโลยีดังกล่าว ภาพรวมในการดูติดตามผู้ป่วยง่ายขึ้น ง่ายในการสรุปข้อมูล เก็บข้อมูลเพราะแพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัล และทำให้เรารู้สึกว่าสะดวกมากขึ้นในการทำงาน สะดวกขึ้นในการดูจุดเชื่อมต่อ เพราะใช้ application นี้อันเดียว และอาจจะลิงก์กับไลน์ได้บางส่วน แม้จะไม่ได้สมบุรณ์เต็มร้อยในด้านการใช้งาน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และโดยเฉพาะการเป็น application ที่คนไทยเป็นผู้พัฒนาขึ้นมา” นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรีทุกวันนี้ ค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้น คือผู้ป่วยใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นและค่อยๆ ลดลง รวมไปถึงกลุ่มอาการของผู้ป่วยก็ไม่ได้ป่วยหนักมากเหมือนในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

“การที่ประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นและทั่วถึงมากขึ้น รวมไปถึงการเข้ารับการรักษาที่รวดเร็ว เมื่อรู้สึกว่าต้องสงสัยหรือเสี่ยง ตรงนี้ช่วยให้สถานการณ์โดยรวมของจังหวัดและประเทศเราดีขึ้น แต่ก็ยังคงให้รักษามาตรการส่วนบุคคลเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการล้างมือเป็นประจำ ให้เป็นวิถีใหม่ของการดำเนินชีวิตแบบไม่ประมาท เพราะเรายังคงต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกเป็นช่วงเวลานานพอสมควร” นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว