ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ซึกะ โยชิฮิเดะ ผู้ที่กำลังจะอำลาตำแหน่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ได้ประกาศว่า ขณะนี้รัฐมนตรีอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อที่จะ “ยกเลิก” การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ครอบคลุมอยู่ทั้ง 19 จังหวัด

หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ นี่จะเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ที่ญี่ปุ่นปลอดการ “ประกาศสถานการ์​ฉุกเฉิน” ทั่วทั้งประเทศ

ถัดจากนั้น ก้าวต่อไปก็คือการ “เปิดประเทศ”

ก่อนหน้านี้ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศขึ้นเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดมาตรการให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่การประกาศ ต้องลดการเดินทางไปทำงาน ให้แต่ละบริษัทมีการทำงานที่บ้าน 70% งดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็นหลัง 20.00 น. ธุรกิจร้านรวงต่างๆ ต้องปิดตามเวลาที่กำหนด ร้านอาหารห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์

อย่างไรก็ดี จากการรายละเอียดที่ออกมา การประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นก็อาจจะถูกแทนที่ด้วยมาตรการอื่นๆ แทน เพื่อที่จะคงไว้ให้มียอดติดเชื้อที่ต่ำและไม่กลับไประบาดหนักอีกครั้ง

แต่ว่า อะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปลี่ยนท่าทีต่อนโยบายของการบริหารจัดการโควิด-19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลซึกะที่กำลังจะลงจากตำแหน่งนั้น จะยกภาระทั้งหมดให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะมาในเดือนตุลาคม !!?

อย่างแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงที่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดวันที่ 22 ส.ค. 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 26,121 ราย อันนำไปสู่การประกาศคงสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้เมื่อต้นเดือนกันยายน

ทว่า เพียง 1 วัน ก่อนจะมีการแถลงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว นั่นคือในวันที่ 26 ก.ย. 2564 ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อต่อวันอยู่เพียงแค่ 2,828 รายเท่านั้น ลดลงถึง 89% ของวันที่ 22 ส.ค.

ยอดภาระผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขที่เป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นมานานก็ดีขึ้นมาก จาก 246,042 รายที่อยู่ระหว่างรับการรักษาเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ลดลงเหลือเพียง 41,313 ในวันที่ 26 ก.ย.

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนนโยบายในครั้งนี้นั่นก็คือ จำนวนประชากรญี่ปุ่นที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส โดยประเทศญี่ปุ่นนั้นปัจจุบันใช้วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer–BioNTech, Moderna, และ Oxford–AstraZeneca รวมกันทั้งสิ้น 414 ล้านโดส เพื่อใช้ฉีดให้ประชาการ 126 ล้านคน ฃ

จากตัวเลขสถิติล่าสุด ญี่ปุ่นใช้วัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 159 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนสองโดสแล้ว 72.5 ล้านคน คิดเป็น 57.4% ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูลวันที่ 27 ก.ย. 2564)

ถึงแม้ว่าตัวเลข 57.4% นั้นจะยังห่างจากการเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่จำเป็นต่อการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติที่ 70% ของประชากรต้องได้รับวัคซีนครบ แต่นี่ก็ถือเป็นตัวเลขที่น่าพึ่งพอใจเมื่อเทียบกับสถานการณ์โดยภาพรวมที่การระบาดของโรคนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชั

หรือว่าง่ายๆ คือ “ยอดติด” ลง “ยอดฉีด” ขึ้น 

ยอดเสียชีวิตยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นมา ยอดเสียชีวิตจากโควิด-19ในญี่ปุ่นนั้นต่ำกว่าร้อยเรื่อยมา

นอกจากนี้ ผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ระหว่าง 1 ส.ค. ถึง 20 ก.ย. 2564 ของกรุงโตเกียวจากจำนวน 412 คน 11.9% นั้นเป็นผู้ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว และกว่า 78.9% ของผู้เสียชีวิตคือผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งจากตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่าวัคซีนนั้นมีผลต่ออัตราเสียชีวิ

การจบช่วงการระบาดระลอกที่ 5 อาจจะเป็นหนทางที่ไม่ยาวไกล

แต่นอกจากสถานการณ์ที่ดีขึ้น ยอดฉีดวัคซีนเป็นที่น่าพอใจแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจก็คือการ “ไม่ออกจากบ้าน” ของคนญี่ปุ่น

เพราะการไม่เดินทาง เท่ากับเชื้อโรคก็ไม่ได้เดินทางไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเชื้อสู่สาธารณะหรือได้รับเชื้อจากสาธารณะ

Tokyo Metropolitan Institute of Medical Science ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนผ่านทางระบบ GPS ใน 7 ย่านสำคัญๆ ของมหานครโตเกียว ไม่ว่าจะเป็น รปปงงิ ชิบุย่า คาบุกิโจ หรือชินจูกุ โดยพบว่า ยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงนั้น สัมพันธ์กับจำนวนผู้คนที่ออกจากบ้านมาใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอยตามย่านเหล่านั้นที่ลดลง

นิชิดะ อัตสึฮิ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านสังคมศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ ของ Tokyo Metropolitan Institute of Medical Science ได้กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์พบว่าผู้คนนั้นออกมานอกบ้านและเดินทางมาย่านสำคัญๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนลดน้อยลงมากแม้ว่าจะมีช่วงที่เป็นวันหยุดก็ตาม โดยหลักใหญ่ใจความก็คือนอกจากออกนอกบ้านน้อยแล้ว ผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวนั้นลดการพบปะสังสรรค์ตามร้านรวงต่างๆ ลงไปมาก

ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีผู้คนออกมาใช้ชีวิตตาม 7 ย่านสำคัญของมหานครโตเกียวระหว่าง 18.00 - 24.00 น. รวมทั้งสิ้นเพียงแค่ 1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าช่วงก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ถึง 23.1% และมีสัดส่วนของผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแต่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นจำนวนที่น้อยมาก

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นผ่านยอดติดเชื้อในมหานครโตเกียว โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 ยอดผู้ติดเชื้อในโตเกียวลดลงเหลือเพียง 235 รายเท่านั้น จากที่เคยมีสูงถึง 5,700 รายในวันที่ 13 ส.ค. 2564

นี่เองคือสาเหตุสำคัญของการลดลงจำนวนผู้ติดเชื้อ และเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะพิจารณายกเลิกประการสถานการณ์ฉุกเฉินของญี่ปุ่น

ผู้คนที่ทั้งฉีดแล้วและยังไม่ฉีดต่างไม่ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ เชื้อโรคก็ไม่เกิดการเดินทางและแพร่กระจาย การฉีดวัคซีนทำได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นที่น่าสนใจ เพราะหลังจากสิงคโปร์ที่ได้ประกาศจะจบสถานะการเกิดโรคระบาดแล้ว ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางเดียวกัน ผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศในที่สุด

แต่ตัวเลขที่ดีขึ้นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นสามารถประมาทได้ การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ อาจจะนำมาซึ่งการระบาดเป็นระลอกที่ 6 ก็เป็นได้ ถ้าไม่มีได้เตรียมความพร้อมเอาไว้

จับตาดูกันต่อไปว่า ดินแดนอาทิตย์อุทัยนี้จะไปถึงจุดที่เอาชนะโควิดได้หรือไม่

อ้างอิง