ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกฯ เทศบาลตำบลเชิงดอยแนะผู้บริหาร อปท. ศึกษาหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้เคลียร์ ชี้ถ้าไม่ทำโครงการนอกกรอบก็ไม่ต้องกลัวโดน สตง.ทักท้วง ย้ำถ้าทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ประชาชนได้ประโยชน์ 

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลเชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นกองทุนที่ได้รับการประเมินผลอยู่ในระดับ A มาโดยตลอด อีกทั้งสามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามวัตถุประสงค์ของกองทุนได้มากกว่า 95% และไม่เคยถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติงเรื่องการใช้เงินผิดประเภท ซึ่งข้อมูลที่ได้แลกเปลี่ยนกับผู้บริหารเทศบาลฯในครั้งนี้จะได้นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกองทุนในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังมีปัญหาการเบิกจ่ายเงินจนทำให้เหลือเงินค้างท่อเป็นจำนวนมาก

นายเฉลิม สารแปง นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลเชิงดอยว่า นโยบายของตนเน้นในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนมากกว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่แต่ละปี กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลเชิงดอยจะได้รับงบประมาณปีละ400,000 บาท ส่วนใหญ่กลุ่มที่มาเสนอโครงการจะเป็นภาคประชาชน เช่น กลุ่มแม่บ้าน ผู้สูงอายุ เด็กนักเรียน เด็กเล็ก อสม.ฯลฯ โดยเทศบาลจะเชิญกลุ่มเหล่านี้มาประชุมทำความเข้าใจร่วมกันว่าหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ก็สามารถของบประมาณจากกองทุนนี้ได้โดยที่เทศบาลเป็นพี่เลี้ยงให้

นายเฉลิม กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยถูก สตง. ทักท้วงเพราะใช้งบประมาณอย่างถูกต้อง โดยใช้เงินไปกับโครงการใน 5 ประเภทตามที่ สปสช.กำหนด ประเด็นนี้ผู้บริหารท้องถิ่นเองก็ต้องศึกษารายละเอียดให้เข้าใจและดำเนินการตามนั้น ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ สปสช.เขียนกรอบการใช้เงินมาทั้ง 5 ประเภท ส่วนตัวแล้วก็คิดว่ามีความชัดเจนว่าเป็นเรื่องการอบรมให้ความรู้ การดูแลรักษา เยี่ยมไข้ ฯลฯ ไม่มีจุดไหนที่ต้องตีความ และกรอบที่ให้มาก็สามารถทำโครงการทำได้หลายอย่างมากจนน่าจะเบิกจ่ายได้หมด

“เราก็ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดมา 5 กลุ่มว่าใช้อะไรได้บ้าง ก็ทำตามนั้น ไม่ได้เอาเงินไปใช้กับโครงการที่คิดขึ้นมานอกกรอบ เช่น เอาไปทำโครงการพัฒนาต่างๆ เอาไปหาเสียง ตัดเสื้อแจก แบบนี้ไม่ได้ ขอแค่ทำตามกรอบระเบียบที่กำหนดมา มันก็ไม่ผิดแล้ว ไม่อย่างนั้นเขาจะกำหนดกรอบมาทำไมถ้าทำไม่ได้ เขาเขียนกรอบมาให้ทำแค่นี้ทำแค่นี้ อย่าไปทำนอกกรอบ ถ้านอกกรอบมันก็ถือว่าใช้เงินผิดประเภท บางท้องถิ่นเอาเงินนี้ไปทำโรงเรียนผู้สูงอายุ เอาไปสอนอาชีพ มันไม่ใช่ แต่ถ้าเอาเงินนี้ไปทำเรื่องสุขภาพ แบบนี้ทำได้ บางรายที่โดน สตง.ทักท้วงเพราะเอาเงินไปใช้จ่ายผิดประเภทก็เลยเกิดปัญหา และทำให้กลัว ไม่กล้าใช้เงิน แต่ถ้าเราทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ประชาชนได้ประโยชน์ จะไปกลัวอะไร ถ้าอะไรก็กลัวไปหมดมันก็ทำงานไม่ได้” นายเฉลิม กล่าว

นายเฉลิม ยังกล่าวถึงแนวทางการทำโครงการโดยใช้งบประมาณผสมผสานจากทั้งงบเทศบาลและงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ เช่น ที่เทศบาลตำบลเชิงดอยมีการทำโรงเรียนชราบาล ซึ่งแม้ชื่อจะเป็นโรงเรียน แต่โดยแท้จริงคือการทำกิจกรรมอบรม ดังนั้นหากวิชาใดหรือโครงการอบรมใดที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพก็ใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ แต่หากเป็นเรื่องอื่นๆ ก็ใช้งบประมาณจากเทศบาล เป็นต้น

ด้าน นพ.จรัล กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายท้องถิ่นที่มีปัญหาเรื่องการใช้เงินกองทุนแล้วถูกทักท้วงโดย สตง. ทำให้หลายแห่งไม่กล้านำเงินนี้ออกมาใช้ได้ จนมีเงินค้างท่อทั่วประเทศเกือบ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ค้างอยู่นี้เท่ากับประชาชนเสียโอกาสในการได้รับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก การดูแลเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การตรวจคัดกรองต่างๆ ดังนั้นการที่เทศบาลตำบลเชิงดอยสามารถเบิกจ่ายเงินได้มากกว่า 95% จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่สามารถนำเงินนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้ ขณะที่แนวทางการทำโครงการโดยใช้เงินผสมผสานระหว่างเงินจากเทศบาลและเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะนำไปถ่ายทอดแก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไปด้วย