ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้เผยแพร่รายงานชื่อว่า We Just Watched Covid-19 Patients Die หรือ “เราได้แต่เพียงมองดูผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต”

รายงานฉบับดังกล่าว วิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณและนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลโซมาเลีย รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 40 ชีวิต ที่บอกเล่าถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรด้านสาธารณสุข จนทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมาก  

แอมเนสตี้ ระบุว่า โรคระบาดตอกย้ำปัญหาในระบบสุขภาพของโซมาเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก และยังมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงถึง 101% ของจีดีพีในปี 2561โดยหนี้เกือบทั้งหมดมาจากการกู้จากสถาบันการเงินต่างประเทศ

แม้ว่ารัฐบาลจะกู้เงินจากนอกประเทศจำนวนมาก แต่กลับไม่นำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชน โดยในช่วงโรคระบาด เมืองหลวงของประเทศมีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวที่รับหน้าที่จัดการกับผู้ป่วยโควิด-19

ทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตั้งแต่เครื่องช่วยหายใจ ถังออกซิเจน เตียง ไปจนถึงรถพยาบาล สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลโซมาเลียในการลงทุนกับระบบสาธารณสุขในช่วงปีที่ผ่านมา   

ณ วันที่  21 ส.ค. 2564 โซมาเลียมีผู้ติดเชื้อโควิดสะสม 16,535 คน เสียชีวิต 897 คน แต่คาดว่าตัวเลขน่าจะสูงกว่านั้น และน่าจะมีผู้เสียชีวิตอยู่กับบ้านจำนวนมาก เนื่องจากระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดด้านการตรวจเชื้อประกอบกับขาดศักยภาพด้านการสอบสวนและรายงานโรค 

แต่เดิม ตัวชี้วัดด้านสุขภาพของโซมาเลียอยู่ในขั้นย่ำแย่อยู่แล้ว การเสียชีวิตในวัยเด็กมีอัตราสูงที่สุดในโลก ขณะที่ระบบสาธารณสุขขาดแคลนแพทย์อย่างหนัก มีอัตราส่วนศัลยแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน และมีประชากรเพียง 15% ในเขตชนบทที่เข้าถึงการรักษาพยาบาล

พยาบาลรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ “แอมเนสตี้” ว่า บุคลากรทางการแพทย์พบความยากลำบากในการรักษาผู้ป่วย และการควบคุมโรคตั้งแต่วันแรกของการระบาด เพราะขาดทรัพยากรด้านสาธารณสุข

“เราทำได้แค่มองผู้ป่วยเสียชีวิตตรงหน้า มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า” เธอ ระบุ

เจ้าหน้าที่ห้องตรวจเชื้อ เล่าว่า โซมาเลียไม่มีประสบการณ์และอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องส่งตัวอย่างไปตรวจในประเทศเคนยาช่วงแรกของการระบาดปีที่แล้ว จนกระทั่งโซมาเลียได้รับบริจาคเครื่องตรวจ PCR เครื่องแรกในประเทศ จากบริษัทอาลีบาบาของจีน การตรวจเชื้อจึงเริ่มทำภายในประเทศได้

นอกจากนี้ รัฐบาลโซมาเลียไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ภายใต้งบประมาณจำกัด จำเป็นต้องพึ่งพาวัคซีนบริจาค ทำให้มีประชากรเพียง 0.6% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีนจนถึงปัจจุบัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า รัฐบาลโซมาเลียใช้จ่ายกับโครงการด้านสุขภาพเพียง 2% ของงบประมาณในระหว่างปี 2560 – 2564 แต่กลับมีงบประมาณความมั่นคงและการทหารมากถึง 31% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงมากในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินเพิ่มจากสถาบันการเงินนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังชี้ด้วยว่า โซมาเลียยังพอมีโอกาสพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ก้าวไปข้างหน้าได้

เมื่อเร็วๆ นี้ โซมาเลียเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ชื่อว่า Heavily Indebted Poor Countries (HIPC) ภายใต้ความร่วมมือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) และธนาคารโลก (World Bank) มีวัตถุประสงค์ช่วยประเทศยากจนลดภาระหนี้สิน

ประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความช่วยเหลือด้านการเจรจาลดหนี้กับเจ้าหนี้ และสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนของไอเอมเอฟหรือธนาคารโลก ด้วยดอกเบี้ยเป็นศูนย์ หรือด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก เพื่อนำเงินกู้ไปพัฒนาประเทศ พร้อมๆ กับผ่อนจ่ายหนี้เดิมให้เสร็จสิ้น

สำหรับข้อเสนอจากรายงานฉบับนี้ เรียกร้องต่อรัฐบาลโซมาเลียให้นำเงินกู้ใหม่มาลงทุนกับระบบสาธารณสุข เพื่อเสริมความเข้มแข็งภายในระบบ ให้ชาวโซมาเลียสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

รวมทั้งนำเงินกู้ส่วนหนึ่งมาริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรัฐบาลโซมาเลียได้ให้คำมั่นสัญญากับนานาชาติก่อนหน้านี้ 

“โควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนทั่วโลกรวมทั้งในโซมาเลีย ซึ่งความจริงแล้วการเสียชีวิตนี้สามารถป้องกันได้ โซมาเลียไม่สามารถจะล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก” Deprose Muchena ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาใต้ ให้ความเห็น

“รัฐบาลจึงต้องนำเงินที่ได้ผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้มาทำประโยชน์ ด้วยการเพิ่มการลงทุนด้านสาธารณสุขจาก 2% ของงบประมาณรัฐบาลทั้งหมด เพิ่มเป็น 15% ตามปฏิญญาอาบูจา เพื่อให้ชาวโซมาเลียมีสิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพที่เพียงพอในทุกที่ รวมทั้งเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการรักษา ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในการต่อสู้กับโรคโควิด-19” รายงานระบุ

อนึ่ง โซมาเลียได้ลงนามรับรองปฏิญญาอาบูจาร่วมกับประเทศในทวีปแอฟริกาในปี 2544 เพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพในประเทศ

อ้างอิง
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2021/08/somalia-wholly-inadequate-covid19-response-highlights-need-to-use-debt-relief-to-invest-in-health-care/

https://www.imf.org/en/About/Factsheets/Sheets/2016/08/01/16/11/Debt-Relief-Under-the-Heavily-Indebted-Poor-Countries-Initiative

https://www.un.org/africarenewal/magazine/october-2020/public-financing-health-africa-when-15-elephant-not-15-chicken