ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท จัดทีมนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 และ 4 กว่า 215 คน ร่วมกับ สปสช.เขต 4 สระบุรี โทรติดตามประเมินอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างรอเข้าสู่ระบบการดูแล รวมทั้งร่วมมือกับพื้นที่ดูแลผู้ป่วยใน Community Isolation ใน 7-8 อำเภอของ จ.สระบุรี และเตรียมขยายไปดูแลผู้ป่วย Home Isolation ในเร็วๆนี้ด้วย


นางจำรัส สาระขวัญ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางวิทยาลัยฯได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ในการจัดนักศึกษาพยาบาลไปร่วมสนับสนุนการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ โดยที่มาของโครงการนี้เนื่องจากทางขณะนี้มีผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลจำนวนมากที่โทรเข้ามาที่สายด่วน 1330 ทาง สปสช.เขต 4 จึงประสานขอความร่วมมือให้นักศึกษาเข้าไปช่วยติดตามประเมินอาการผู้ป่วย รวมทั้งติดตามว่าสามารถเข้าถึงระบบบริการได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งทางวิทยาลัยฯก็ยินดีให้ความร่วมมือและตอบรับทันที โดยเริ่มให้นักศึกษาปฏิบัติงานตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา 

นางจำรัส กล่าวว่า ในช่วงแรกนั้นมอบหมายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ก่อน และต่อมาก็ดึงนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เข้ามาร่วมด้วย รวมทั้งหมด 215 คน ซึ่งก่อนปฏิบัติงาน ทางวิทยาลัยฯก็ได้เตรียมพร้อมองค์ความรู้เรื่องโรคโควิด-19 ว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร ขณะที่ทาง สปสช.เขต 4 ก็เตรียมพร้อมในเรื่องเกณฑ์การคัดกรองอาการผิดปกติจากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลงเป็นเป็นสีเหลืองและสีแดง ระบบการดูแล การส่งต่อ การบันทึกข้อมูล ตลอดจนเทคนิคการสื่อสารกับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังเตรียมซิมการ์ดเพื่อให้นักศึกษาใช้ และในการปฏิบัติงานก็จะมีพี่เลี้ยงจาก สปสช.เขต 4 ช่วยดูแลให้คำแนะนำ 1 คนต่อนักศึกษา 5-6 คน เพราะบางกรณีนักศึกษาก็ต้องการคำแนะนำ เช่น ข้อมูลเชิงพื้นที่ เคสที่อาการเปลี่ยนแปลงต้องไปรับตัวทันที ทางพี่เลี้ยงก็จะประสานงานต่อให้

"เราให้นักศึกษาปฏิบัติงานในวันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์นอกเหนือจากวันเรียนตามปกติ ซึ่งทาง สปสช.เขต 4 ก็จะเอาหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการติดต่อมาให้นักศึกษา ทางนักศึกษาก็จะแบ่งกลุ่มกันโทรติดตาม ตอนนี้ก็ทำมาได้เดือบ 1 เดือนแล้ว ผลการปฏิบัติงานก็ทำได้ดี ทาง สปสช.ก็ชมว่านักศึกษาทำได้ดีและรวดเร็ว น้องๆ โทรหาผู้ป่วยได้ชั่วโมงละ 10-15 คน รอบแรกที่ สปสช. ให้ข้อมูลผู้ป่วยมากกว่า 3,000 คน นักศึกษาก็โทรหาได้หมดภายใน 2 วัน สามารถช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือเข้าไม่ถึงบริการ ไม่ได้รับอุปกรณ์หรือยา วันแรกก็สามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อที่อาการเปลี่ยนแปลงจากเขียวเป็นเหลืองได้กว่า 20 ราย" นางจำรัส กล่าว

นางจำรัส กล่าวว่า การที่นักศึกษาได้เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นการบูรณาการศาสตร์หลายวิชาที่เรียนมาใช้ในการทำงาน ได้เรียนรู้อาการของโรคจากผู้ป่วยโดยตรง ได้ฝึกเรื่องการสนทนา การให้คำแนะนำต่างๆ รวมทั้งยังได้ฝึกในเรื่องจิตอาสา และที่สำคัญคือนักศึกษาเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่มีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ

ทั้งนี้ นอกจากการโทรติดตามประเมินอาการผู้ติดเชื้อที่รอเข้าระบบการดูแลแล้ว ทางวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท ยังให้นักศึกษาเข้าไปร่วมโทรติดตามอาการผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลแบบ Community Isolation ในพื้นที่ของจังหวัดสระบุรี รวม 7-8 อำเภอ เช่น เข้าไปช่วยตอบคำถามผู้ป่วย ประเมินอาการผ่านทางกลุ่มไลน์ โดยมีอาจารย์เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงด้วย และในเร็วๆนี้ก็ได้รับประสานให้เข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยในส่วนของ Home Isolation ด้วย ซึ่งทางวิทยาลัยฯยินดีช่วยเต็มที่

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี กล่าวถึงความร่วมมือกับวิทยาลัยพยาบาลในครั้งนี้ว่า สาเหตุมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อตกค้างในระบบ 3,000-4,000 คน ซึ่งถ้าให้เจ้าหน้าโทรติดต่อสอบถามประเมินอาการอย่างเดียวไม่ไหวแน่นอน ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางนักศึกษาพยาบาลมีศักยภาพสามารถเข้ามาช่วยได้ จึงประสานไปทางวิทยาลัยพยาบาลและทางอาจารย์ก็มองว่าเป็นโอกาสดี ทาง สปสช.เขต 4 จึงสนับสนุนซิมการ์ดให้นักศึกษาใช้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดอาหาร อาหารว่างให้ และช่วงหลังก็จัดทำโครงการคล้ายๆกับการจ่ายค่าจ้างให้เลย เพราะนักศึกษาบางคนในช่วงนี้ก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทาง สปสช.เขต 4 จึงทำโครงการรองรับเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้ แต่จะเป็นลักษณะคล้ายๆทุนการศึกษามากกว่าจะเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแบบเต็มรูปแบบ

"น้องๆทำงานดีมากและได้เจอประสบการณ์ที่หลากหลาย บางคนพอตามเคสเสร็จเจอคนไข้รอจนเสียชีวิตก็อินมาก บางคนก็โดนดุกลับมาบ้างว่ารอตั้งหลายวันทำไมเพิ่งโทรมา ฯลฯ ซึ่งโครงการลักษณะนี้เราจะทำไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะที่กำลังเจ้าหน้าที่ในระบบสามารถรับมือไหว สามารถโทรติดตามได้โดยไม่มีผู้ติดเชื้อตกค้าง" นพ.ชลอ กล่าว

นพ.ชลอ กล่าวว่า นอกจากโครงการให้นักศึกษาพยาบาลเข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอเข้าสู่ระบบการดูแลแล้ว สปสช.เขต 4 ยังได้เป็นตัวกลางประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ในการให้นักศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลสระบุรีและวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท มีส่วนร่วมในการโทรติดตามดูแลผู้ติดเชื้อใน Community Isolation และ Home Isolation โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ว่าปัญหาการดูแลผู้ป่วยจะต้องเฝ้าระวังอะไรทั้งเรื่องกาย จิต สังคม และอีกประการคือเป็นการฝึกในเรื่องจิตอาสาด้วย ขณะที่ทางหน่วยบริการ สาธารณสุขจังหวัดก็ได้เสริมกำลังแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ด้วย เป็นการได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย 

"จุดสำคัญที่สุดคือนักศึกษาได้เรียนรู้ ได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์ ความเครียด ความกังวล มิติต่างๆของคนไข้"นพ.ชลอ กล่าวทิ้งท้าย