ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ฯ เผยผลการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อโควิด พบติดสายพันธุ์เดลตาถึง 91.9%


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า แนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ภาพรวมของประเทศไทยจากข้อมูลระหว่างวันที่ 31 ก.ค. - 6 ส.ค. 2564 พบว่า จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,632 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,499 ราย หรือคิดเป็น 91.9%

ขณะที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พบจำนวน 129 ราย (7.9%) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบจำนวน 4 ราย (0.2%)

ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) สุ่มตรวจ จำนวน 1,157 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,104 ราย คิดเป็น 95.4% ส่วนสายพันธุ์อัลฟา จำนวน 53 ราย (4.6%) และสายพันธุ์เบตา ไม่พบผู้ติดเชื้อ

สำหรับภูมิภาคสุ่มตรวจจำนวน 475 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 395 ราย คิดเป็น 83.2% ส่วนสายพันธุ์อัลฟา 76 ราย (16%) และสายพันธุ์เบตา 4 ราย (0.8%)

“ขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบแล้วทุกจังหวัด ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โดยพบจังหวัดภูเก็ต 3 ราย และจังหวัดพัทลุง 1 ราย 
สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการรักษาระยะห่าง เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อ ถ้าเราสามารถหยุดการแพร่เชื้อได้เร็วควบคุมโรคได้เร็วโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็น้อยลง ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ เช่น คนที่มาจากต่างประเทศ บริเวณชายแดน คลัสเตอร์แปลกเกิดขึ้นหรือ        คนไข้หนัก เป็นต้น

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า กรณีมีประชาชนไปตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนนั้น ไม่แนะนำให้ไปตรวจเนื่องจากการภูมิดังกล่าวเป็นการบอกภูมิคุ้มกันทั่วไป อาจจะไม่ใช่การตรวจ Neutralizing antibody เป็นภูมิคุ้มกันที่จะกำจัดเชื้อโรค จึงไม่สามารถบอกได้กำจัดเชื้อสายพันธุ์อะไร 

นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งมีค่าตัวเลขที่แตกต่างกันไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ว่ามีภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้กำหนดค่าที่ชัดเจนว่าอยู่ในระดับที่เท่าไหร่จึงจะสามารถป้องกันโรคได้ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการศึกษาวิจัยการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปว่าควรฉีดวัคซีนลักษณะแบบใดจึงจะเกิดผลดี