ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมแพทย์ชนบท เผย ตรวจเชิงรุกในชุมชนพื้นที่ กทม.รอบที่ 3 หากพบผู้ติดเชื้อโควิดจะจ่ายยาให้ทันที ป้องกันอาการทรุดระหว่างรอคลินิกมารับดูแล


นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ภาพรวมการตรวจคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนด้วยชุดตรวจ  Antigen Test Kit (ATK)  ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ทีมแพทย์ชนบทได้ระดมทีมงานเข้ามาช่วยตรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. 2564 โดยก่อนที่จะเริ่มดำเนินการในรอบนี้มีการวางแผนกับ กทม. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไว้ว่า หากพบผู้ที่ผลตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) ก็จะประสานให้ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่นมารับดูแลทำ Home Isolation ให้ ส่วนผู้ที่ผลตรวจเป็นลบก็จะฉีดวัคซีนให้เลย

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติพบว่าด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ซึ่งพบผลตรวจเป็นบวกวันละกว่า 8,000 ราย ก็ทำให้การประสานหน่วยบริการมารับดูแลแบบ Home Isolation ก็หาได้บ้างไม่ได้บ้าง ซึ่งหน่วยบริการหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นที่รับดูแลส่วนมากก็จะรับผู้ป่วยในโซนที่ตัวเองดูแลก่อน แต่ก็จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ Walk in หรืออยู่นอกโซนที่หน่วยบริการดูแลก็จะไม่มีคนรับ ทางทีมงานก็จะส่งข้อมูลเข้าฐานข้อมูลกลางของ สปสช. ซึ่ง สปสช. ก็จะช่วยเคลียร์ว่าจะให้ใครมารับ หรือผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ไหนก็จะประสานให้พื้นที่นั้นมารับดูแลต่อ

"เราแก้ปัญหาด้วยการจ่ายยาให้เลย ถ้าเป็นกลุ่มเขียวที่มีอาการโรค เราจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ รวมทั้งผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุก็จะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้เลยแม้ไม่มีอาการ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาในระหว่างรอให้มีคลินิกมารับดูแล อย่างน้อยก็ได้ยาไปทานก่อน โอกาสป่วยหนัก ปอดบวม หรือเสียชีวิตก็จะลดลง รวมทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรังก็จ่ายยาให้ทันทีแม้ไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวแบบไม่แสดงอาการ ร่างกายแข็งแรง เราจะจ่ายยาฟ้าทะลายโจรแทน" นพ.สุภัทร กล่าว