ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"รพ.สิชล" พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม. ที่ยังตกค้างในระบบสายด่วน 1330 เข้าดูแล Home Isolation แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทางด้าน สปสช. ขอระดมคลินิกชุมชนอบอุ่นให้พร้อมรับคนไข้ได้มากขึ้น


นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า รพ.สิชล ได้ช่วยรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่โรงพยาบาล และคลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. ยังไม่สามารถรับดูแลผู้ติดเชื้อได้หมด จนมีผู้ป่วยตกค้างในระบบของสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 จำนวนมาก

ทั้งนี้ รพ.สิชล ได้ให้การดูแลผู้ป่วยในระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) และติดตามอาการผ่านระบบสื่อสารทางไกล โดยโรงพยาบาลยินดีรับผู้ป่วยมาดูแลเพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยชุดแรกที่ให้การดูแลตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2564 จะเริ่มจำหน่ายออกจากระบบในอีกประมาณ 6-7 วันข้างหน้า ซึ่งหากหน่วยบริการใน กทม. เริ่มปรับระบบและมีความพร้อมในการรับดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ก็สามารถเข้ามารับผ่องถ่ายผู้ป่วยไปได้ทันที

สำหรับกระบวนการดูแลผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยตอบรับเข้าโครงการ Home Isolation กับ รพ.สิชล แล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะสื่อสารตอบคำถามให้คำแนะนำต่างๆ ผ่านทาง LINE Official Account มีทีมเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน อยู่ที่ กทม. เพื่อจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ประสานงานหาเตียงกรณีผู้ป่วยอาการแย่ลง รวมทั้งจัดการเรื่องการส่งยาต่างๆ

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ส่วนทีมเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 100 คน จะอยู่ที่ รพ.สิชล และให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ แบบเรียลไทม์ โดยแต่ละวันจะมีแบบสอบถามเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หากเริ่มเข้าสู่ระดับอาการที่รุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถโทรไปพูดคุยกับผู้ป่วยรายนั้นโดยตรง

"ยกตัวอย่างมีรายหนึ่งไลน์มาบอกว่ายังไม่ได้รับยา หายใจไม่ออก ตอนนั้นเป็นวันหยุดยาวหารถไปรับไม่ได้ เราก็ให้ทีมงานที่อยู่ที่ กทม. ขับรถไปส่งยาให้ทันทีตอน 4 ทุ่ม หลังได้ยาอาการก็เริ่มดีขึ้น ความรู้สึกของผู้ป่วยคือเหมือนมีคนอยู่เคียงข้างเขา ไม่ถูกทอดทิ้ง" นพ.อารักษ์ กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ความจริงแล้ว สปสช. ต้องการให้คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. รับดูแลผู้ป่วย Home Isolation ในพื้นที่ใกล้เคียงของตัวเอง แต่เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องความพร้อม ทำให้คลินิกชุมชนอบอุ่นรับดูแลได้ไม่หมด และมีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก การได้ รพ.สิชล เข้ามารับดูแลผ่านระบบ Telehealth ก็ทำให้จัดการผู้ป่วยตกค้างไปได้จำนวนหนึ่ง

"อย่างน้อยคือมีการส่งยา ส่งอาหารให้ ทำให้ผู้ป่วยสบายใจว่ามีคนดูแล แต่ สปสช.ก็ยังต้องการให้คลินิกใน กทม.รับผู้ป่วยไปดูแลมากๆ ดังนั้นก็ขอประชาสัมพันธ์คลินิกเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เข้ามาร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยวันที่ 3 ส.ค.นี้ สปสช.จะมีการประชุมออนไลน์เพื่อชี้แจงรายละเอียดและรับสมัครคลินิกที่สนใจ" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ Home Isolation สมบูรณ์และเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ป่วย คือถ้าผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้นจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองหรือแดง ต้องมีเตียงรองรับ โดยขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างเจรจากับโรงพยาบาลอื่นๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน เพื่อขอให้สำรองเตียงไว้ในกรณีผู้ป่วย Home Isolation มีอาการรุนแรงขึ้น รวมทั้งมองหาสถานที่ในปริมณฑลเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง จึงขอเวลาอีก 1-2 วันในการเตรียม Fast Track เหล่านี้ให้แล้วเสร็จ