ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. ร่วมติดตามความพร้อม "คลินิกชุมชนอบอุ่น" หลังคลี่คลายปัญหา-สร้างความมั่นใจให้เข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดแบบ "Home Isolation" ก่อนระดมคัดกรองเชิงรุกช่วง 4-10 ส.ค.นี้


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ช่วงวันที่ 4-10 ส.ค. 2564 จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอีกครั้งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งถ้าเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ก็จะต้องเตรียมพร้อมคลินิกชุมชนอบอุ่นให้สามารถรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) ได้

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปลดล็อกให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเข้ามาดูแลผู้ป่วย แต่ยังมีบางคลินิกที่อาจไม่พร้อม เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเข้าระบบได้หรือไม่ รวมไปถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายต้องทำอย่างไร เมื่อเกิดความกังวลจึงยังไม่เข้ามา ดังนั้นเมื่อ สปสช. พยายามแก้โจทย์และคลี่คลายปัญหาบางอย่างแล้ว ก็จะต้องติดตามดูกันอีกครั้งว่าคลินิกจะเข้าร่วมเพิ่มขึ้นหรือไม่

"ตอนนี้เราต้องสนับสนุนให้คลินิกชุมชนอบอุ่นพร้อมที่จะทำในส่วนนี้ เนื่องจากคลินิกเป็นส่วนที่อยู่ใกล้กับประชาชนใน กทม. คล้ายกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ้าสามารถสร้างความมั่นใจว่าในทุกบริการที่ทำทางคลินิกสามารถเบิกจ่ายได้ ก็น่าจะทำให้มีคลินิกเข้ามาเพิ่มมากขึ้น" นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า อันที่จริงแล้วต้องการให้คลินิกเข้าไปช่วยรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่หน้างาน ส่วนในกรณีที่คลินิกไม่พร้อมลงพื้นที่แต่พร้อมที่จะรับผู้ป่วยเข้าระบบ ก็จะมีการทำทะเบียนรวบรวมรายชื่อและส่งข้อมูลให้ในวันนั้น พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าอยู่ในความดูแลของคลินิกใด ซึ่งเป็นส่วนที่จะพยายามทำให้ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้มั่นใจว่าเมื่อต้องแยกกักตัวที่บ้าน 14 วัน จะอุ่นใจได้ว่าอย่างน้อยมีคลินิกที่เข้ามาดูแล

"จากการพูดคุยพบว่าถ้าทำแบบนี้ได้ ทางคลิกก็พร้อมที่ทำตามขั้นตอนนี้ คือมีการตรวจสอบสิทธิ อ่านบัตรประชาชน พิสูจน์ตัวตนเข้าระบบ Home Isolation และส่งข้อมูลให้ทางคลินิก เนื่องจากมีความง่ายในการที่เขาจะเข้ามาช่วยดูแล" นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า อีกส่วนสำคัญคือในกรณีที่พบผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อย หรือสีเหลือง จะนำเข้าคลินิกที่มีความพร้อมรับผู้ป่วยและทำการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากคลินิกยังไม่พร้อมก็จะส่งต่อให้กับสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ดูแล อย่างไรก็ตามในวันที่ 4-10 ส.ค.นี้ ผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับยา จะต้องได้รับยาทันที และต้องไม่กลับบ้านมือเปล่า

"ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวางแผนคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะต้องจบ โควิด-19 ถ้ารู้และเข้าถึงการรักษาเร็ว เราจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ และจะได้ไม่ต้องเห็นใครเสียชีวิตกลางถนน ฉะนั้นมาตรการที่เรากำลังจะทำต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้ง กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่น" นายนิมิตร์ กล่าว