ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"รามอินทราเฮลท์สหคลินิก" ร่วมระบบ "Home Isolation" ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ยืนยันระบบดี-ช่วยลดวิกฤติ มีอัตราเบิกจ่ายจาก สปสช.เพียงพอ ชวนทุกคลินิกเอกชนเข้าร่วม-โอบอุ้มระบบสุขภาพประเทศ


นทพ.นันทศักดิ์ สุขแก้ว ผู้ประกอบการรามอินทราเฮลท์สหคลินิก เปิดเผยว่า ทางคลินิกได้เข้าร่วมระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) ทันทีนับตั้งแต่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาต (สปสช.) ได้ดำเนินการจัดระบบดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564

นทพ.นันทศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางคลินิกได้ร่วมช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นทีมจิตอาสาเครือข่ายเพจ “เราต้องรอด” ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในการร่วมดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ

นทพ.นันทศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราเบิกจ่ายค่าบริการ จำนวน 1,000 บาท ที่คลินิกได้รับจาก สปสช. ต่อการดูแลผู้ป่วย 1 ราย มองว่าเป็นจำนวนที่พอบริหารจัดการได้ ทั้งค่าอาหาร 3 มื้อ และการติดตามดูแลผู้ป่วยวันละ 2 ครั้ง ส่วนค่าอุปกรณ์การแพทย์ในการดูแล ที่ได้รับการสนับสนุนอัตรา 1,100 บาทต่อรายนั้น หากนับเฉพาะเครื่องวัดค่าออกซิเจนที่ใช้ ก็เรียกว่าเกินราคาเบิกจ่ายแล้ว

"แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มองว่าหากช่วยอะไรได้ เราก็ต้องช่วยกัน และการที่ สปสช. มียารักษามาสนับสนุน โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ สามารถช่วยในการดูแลผู้ป่วยได้มาก เพราะจากประสบการณ์ดูแล ในผู้ป่วยสีเหลืองบางรายเมื่อได้รับยานี้ก็จะมีอาการดีขึ้น วันนี้อยากให้ทุกคลินิกและหน่วยบริการในระบบสุขภาพร่วมกัน เพราะเราต่างเป็นมดงานขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ" นทพ.นันทศักดิ์ กล่าว

นทพ.นันทศักดิ์ กล่าวว่า การกำหนดราคาอัตราจ่าย สปสช.คงวิเคราะห์มาแล้ว ซึ่งในวันที่เริ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชน เป็นวันที่ทางคลินิกดีใจ เพราะเป็นวันที่มีระบบมาช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ ส่วนการที่ สปสช. สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ยังเป็นส่วนที่ทำให้คลินิกเพิ่มการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกได้มากขึ้น

สำหรับการดูแลผู้ป่วยของคลินิกฯ จะมีการไลน์คุยกับผู้ป่วยตลอด มีการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องเพื่อคลายความวิตกกังวล ทั้งในเรื่องอาการ การปฏิบัติดูแลตนเอง และการกักตัวไม่ให้ติดคนในครอบครัว เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ก็มีโอกาสที่อาการจะแย่ลงแบบฉับพลันได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวังจนกว่าเข้าสู่ระยะปลอดภัย และหากมีอาการแย่ลงก็จะประสานเพื่อนำส่งเข้ารักษาโดยเร็ว ซึ่งทางคลินิกฯ มีโรงพยาบาลนพรัตน์ เป็นแม่ข่ายบริการ