ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง สสจ.แพร่ จัดทีม "ทันตแพทย์-ผู้ช่วยทันตแพทย์" อาสาร่วมคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานกักตัวระดับจังหวัด ลดภาระงานแพทย์-พยาบาล


ทพญ.สุขจิตตรา วนาภิรักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่ เปิดเผยกับสำนักข่าว “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า จ.แพร่ ได้มีการระดมทีมทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ เข้ามาช่วยสนับสนุนภาระงานของแพทย์และพยาบาล ในการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล รวมถึงสถานที่กักตัวระดับจังหวัด (Local Quarantine: LQ)

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้ จ.แพร่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะแพทย์ที่ต้องทำหน้าที่ในการรักษาและตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ดังนั้นจึงได้แก้ปัญหาด้วยการระดมทีมทันตแพทย์เข้ามาช่วยหมุนเวียนคัดกรองผู้ป่วย รวมถึงการเข้าไปคัดกรองเชิงรุกในชุมชน บนพื้นฐานความสมัครใจของทันตแพทย์ 

ทพญ.สุขจิตตรา กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้งานบริการทันตกรรมมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีลักษณะของการฟุ้งกระจายระหว่างให้บริการ เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน เป็นต้น รวมถึงห้องทันตกรรมยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศสำหรับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ จึงทำให้ทันตแพทย์ต้องจำกัดชนิดบริการ ทำเฉพาะหัตถการที่เร่งด่วนเท่านั้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จึงทำให้ทันตแพทย์จำนวนหนึ่งสามารถจัดสรรเวลาในการช่วยงานควบคุมป้องกันโรคในจังหวัดได้

สำหรับทันตแพทย์ที่เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้มาจากหลายโรงพยาบาล โดยในช่วงแรกมีจำนวน 9 คนที่เข้ามาร่วมฝึกฝนเรียนรู้ แต่ในปัจจุบันได้มีทีมทันตแพทย์เข้ามาช่วยงานส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นรวม 30 คน นอกจากนี้แล้วยังมีทีมพยาบาลอาสาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เข้ามาช่วยส่งเครื่องมือให้กับทันตแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้างานเช่นกัน

"เราปรึกษาหาข้อมูลจากหลายฝ่าย เช่น แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจทันตแพทย์ที่จะเข้ามาช่วยงานตรงนี้ จะต้องเข้ารับการฝึกกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้รับคำสั่งจากทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดให้ปฏิบัติงานก่อน" ทพญ.สุขจิตตรา อธิบาย

ทพญ.สุขจิตตรา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทางจังหวัดมีนโนบายคนแพร่ไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่รับผู้ป่วยโควิด-19 จาก 10 จังหวัดเสี่ยงกลับมารักษาที่ จ.แพร่ ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางรายมีผลการตรวจ RT-PCR แล้ว แต่ก็มีบางรายที่ตรวจด้วย Rapid test ผลเป็นบวกและมีอาการ แต่ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะแอดมิทในโรงพยาบาล จึงต้องส่งผู้ติดเชื้อเข้ามาอยู่ใน LQ และต้องตรวจคัดกรองอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมง 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ต้องมีการปรับแผนในรูปแบบใหม่ โดยปรับให้ทันตแพทย์เข้ามาช่วยส่วนนี้ เนื่องจากจะต้องมีทีมบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปคัดกรองทุกวัน ทำให้ภาระงานขอแพทย์และพยาบาลค่อนข้างหนัก จึงได้มีการร้องขอทีมทันตแพทย์ให้เข้ามาช่วยจัดการตรวจคัดกรองทุกวัน

ทพญ.สุขจิตตรา กล่าวว่า เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลายแห่งทราบว่ามีทันตแพทย์อาสาที่ช่วยงานใน LQ ทำการคัดกรองได้ โรงพยาบาลที่ต้องการความช่วยเหลือก็สามารถนำทันตแพทย์เข้าไปช่วยงานในโรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นทั้งกลุ่มทันตแพทย์อาสา หรือกลุ่มทันตแพทย์ที่ประจำในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยอาจต้องแบกภาระทั้งสองหน้างาน ทั้งในส่วนงานประจำช่วยโรงพยาบาล และงาน LQ ระดับจังหวัด

ขณะเดียวกันยังมีการระดมทีมผู้ช่วยทันตแพทย์ เข้ามาเสริมในส่วนภาระงานของพยาบาล รพ.สต. ที่อาจจะต้องเวียนกลับไปดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ทำให้ขณะนี้การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 จะมีทั้งทันตแพทย์ และผู้ช่วยทันตแพทย์ทำงานร่วมกัน 

"เราคงไม่มองแต่วิชาชีพอย่างเดียว แต่เราจะต้องมองภาพใหญ่ ร่วมกันรับผิดชอบในสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะในภาวะวิกฤตแบบนี้เราต้องมองรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ส่วนไหนช่วยได้เราก็จะเข้าไปช่วย" ทพญ.สุขจิตตรา ระบุ