ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดใจครอบครัว "เด็กพิเศษ" ติดโควิด-19 ยกบ้าน ชี้ดูแลลำบาก-ไร้เตียง ให้ไปอยู่ รพ.สนาม ร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ วอนรัฐจัดสถานพยาบาลเฉพาะ ด้านมูลนิธิเด็กเยาวชนฯ ขอการวางแผนช่วยเด็กพิเศษเป็นระบบ


นางสกุลศรี บุญโชติอนันต์ ผู้ปกครองเด็กพิเศษ เปิดเผยในเสวนาเรื่อง "เด็กพิเศษ ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่จบ" เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ครอบครัวของตนทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 ก.ค. โดยมีการติดเชื้อรวม 3 คน คือตน สามี และลูกชายอายุ 18 ปีที่ป่วยเป็นออทิสติก ซึ่งสามีถูกส่งไปที่โรงพยาบาลสนาม ส่วนตนพยายามหาเตียงที่เหมาะสมสำหรับการดูแลเด็กพิเศษแต่ไม่สามารถหาได้ ทำให้ต้องอยู่รักษาตัวเองที่บ้าน

ทั้งนี้ ในช่วงแรกต้องมีการปรับการดูแลเยอะ ทั้งการกิน การอยู่ การทำความเข้าใจเรื่องไม่ออกมานอกห้อง โดยในช่วงแรกลูกชายไม่เข้าใจ แต่ช่วงหลังก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น จนกระทั่งวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีการตรวจเอ็กซเรย์ แล้วพบว่าปอดลูกชายเริ่มมีปัญหา และจะถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลสนาม แต่ตนไม่สามารถให้ไปได้เนื่องจากลูกชายเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ยากมากในการไปอยู่ร่วมกับคนอื่น จึงให้อยู่บ้านต่อไป

"จากนั้นก็ไม่ได้มีใครมาดูแลอะไรอีกเลย ไม่มียา ไม่มีเครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจน ยา และอุปกรณ์ต่างๆ มาให้ มีแต่ทางมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ และภาคประชาชนต่างๆ ที่ช่วยส่งมา ซึ่งตอนนี้เป็นความโชคดีที่อาการดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีเด็กพิเศษอีกมากที่ติดโควิดและกำลังหาเตียงอยู่ หากเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐจัดหาสถานพยาบาลสำหรับเด็กพิเศษกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึงด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ดูแลหรือช่วยเหลือตัวเองลำบากหากติดเชื้อ" นางสกุลศรี กล่าว

นางสกุลศรี กล่าวว่า การเลี้ยงเด็กพิเศษถือว่ามีความยากกว่าเด็กทั่วไป แม้โชคดีที่ลูกของตนสามารถพูดคุยสื่อสารและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารทางอารมณ์ โดยในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้พยายามสอนให้ลูกชายรู้จักโรค รู้จักการป้องกัน จนกระทั่งสามีของตนต้องกักตัวที่บ้านเนื่องจากที่ทำงานมีคนติดเชื้อ แต่ในระหว่างที่อยู่ที่บ้านก็ไม่ได้แยกตัวออกจากครอบครัว จึงมีการติดเชื้อดังกล่าว

นายโกสินทร์ สวัสดิ์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม มีกลุ่มเด็กพิเศษที่โรงเรียนดูแลอยู่ 110 คน ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคแล้วภาครัฐให้เรียนออนไลน์ กลุ่มเด็กพิเศษจะไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทางจังหวัดจึงได้จัดส่งครูไปสอนแบบที่บ้าน โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคโควิด-19 ให้ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล บุคลิกภาพ ความชอบหรือไม่ชอบ หรือข้อจำกัดส่วนบุคคลของเด็กพิเศษเหล่านี้ไว้ เนื่องจากขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคหนักขึ้น หากเกิดการติดเชื้อจะได้มีฐานข้อมูลให้กับบุคลากรการแพทย์ในการดูแล เพราะต้องยอมรับว่าบางครอบครัวมีข้อจำกัด ไม่สามารถทำระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ทุกคน

นายโกสินทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามหากรายใดสามารถทำ Home Isolation ได้ ทางศูนย์ฯ ก็พร้อมให้การช่วยเหลือดูแลในส่วนที่ทำได้ เช่น การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันก็ได้เริ่มวางแผนเตรียมการเพื่อรับมือหากจำเป็นต้องแยกเด็กพิเศษออกมาเข้าสู่การดูแลรักษา และกำลังมองแนวทางในการปรับสถานที่ของโรงเรียนบางจุด เพื่อเป็นหน่วยดูแลพักคอยรอส่งต่อในเบื้องต้นเอาไว้ด้วย

ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานในพื้นที่เพื่อออกแบบการทำงานเชิงป้องกันลดปัญหาสังคม โดยเห็นความสำคัญต่อปัญหาครอบครัว ปัญหาเด็ก เยาวชน กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่เปราะบาง รวมถึงเด็กพิการ เด็กพิเศษ ภายใต้คณะทำงาน “อัมพวาโมเดล” มีการกำหนดจุดเฝ้าระวังและแจ้งเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

"เราช่วยไปหลายเคสในช่วงโควิดและมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดหาสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือครอบครัวเด็กพิเศษที่เผชิญความยากลำบากรวม 51 ครอบครัว ซึ่งอยู่ในการดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษ สมุทรสงคราม โดยจะทยอยส่งมอบสิ่งของภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามมูลนิธิฯ อยากเห็นการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ มีการวางแผนวาดฉากสถานการณ์ปัญหาเพื่อเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ" นายชูวิทย์ กล่าว