ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายภาคประชาสังคม หนุน อภ. เดินหน้าผลิต "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้กู้วิกฤตโควิดภายใน ส.ค.นี้ตามแผน แม้ บ.ฟูจิ ขอยื่นอุทธรณ์ จี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา พิจารณาปัดตกอีกครั้ง


เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ประกอบด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และกลุ่มนักวิชาการเพื่อการเข้าถึงยา ร่วมกันออกมาให้กำลังใจและสนับสนุนองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการเดินหน้าผลิตและจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในเดือน ส.ค.นี้ ตามแผน

พร้อมกันนี้ยังได้ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา พิจารณาคำอุทธรณ์ของบริษัท ฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมิคอล จำกัด ที่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ เลขที่ 1101001988 เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 โดยขอให้พิจารณาโดยยึดหลักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ สิทธิบัตร และยืนคำตัดสินเดิมให้ยกคำขอฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้ยื่นข้อมูลเพี่อประกอบการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรฉบับนี้ ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 โดยขอให้กรมฯ ปฏิเสธและยกคำขอฯ ดังกล่าว เนื่องจากไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และไม่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตร ต่อมาในเดือน ม.ค. 2564 ผู้แทนภาคประชาสังคมได้ร่วมกันเข้าพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และแสดงความกังวลดังกล่าว

เนื่องจากว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์จำนวนมาก ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จนกระทั่งการระบาดในระลอกที่ 3 เมื่อเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้กรมฯ เร่งพิจารณาและยกคำขอฯ พร้อมสนับสนุนให้ อภ.นำเข้าและผลิตในราคาที่ถูกกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง ทางกรมฯ จึงมีคำตัดสินให้ยกคำขอฯ ในวันที่ 5 พ.ค. 2564

ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมระบุว่า ภายหลังจากที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกคำขอฯ ไปแล้ว อภ.ก็ได้นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญมาจากประเทศอินเดีย ในราคาที่ถูกว่ายาต้นแบบของบริษัทฟูจิฯ ถึง 50% รวมถึงเร่งวิจัยผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เอง จนได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนยาโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ซึ่ง อภ. พร้อมส่งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ในเดือน ส.ค.นี้

นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมยังได้เตรียมยื่นข้อมูล เพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาและยกคำขอรับสิทธิบัตร ยาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาสำคัญอีกชนิดที่ใช้รักษาโควิด-19 และกำลังจะขาดแคลน โดยบริษัทยาในประเทศสามารถผลิตยานี้ได้ หากไม่ติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร

"สถานการณ์โควิด-19 และยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นตัวอย่างของการผูกขาดตลาดยาด้วยระบบสิทธิบัตร ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาโดยเฉพาะในยามวิกฤต ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่ข้อเสนอแนะและคำทักท้วงของภาคประชาสังคมและนักวิชาการ กลับไม่ได้รับการพิจารณาและรวมอยู่ในเนื้อหาของกฎหมายที่แก้ไขแต่อย่างใด" เครือข่ายภาคประชาสังคม ระบุ

สำหรับประเด็นที่เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ เป็นกังวลมากที่สุด คือการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงยา ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับแก้ไขนี้ เสนอให้คำสั่งการใช้สิทธิต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกชั้นหนึ่งก่อน และบริษัทยาที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยังสามารถยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับ หรือยกเลิกคำสั่งประกาศใช้ซีแอลได้อีกด้วย

ทางเครือข่ายภาคประชาสังคม ยังระบุด้วยว่า ในอดีตมาตรการซีแอลช่วยให้ประเทศไทยนำเข้ายาชื่อสามัญสำหรับรักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคมะเร็ง ในราคาที่ถูกกว่ายาที่ติดสิทธิบัตร 70-90% และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ จ่ายยาดังกล่าวให้ผู้ป่วยนับแสนคนได้ ดังนั้นหากมาตรการซีแอลถูกแก้ไขตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเสนอ ประเทศไทยอาจไม่มีโอกาสได้ใช้มาตรการซีแอลอีกในอนาคต