ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สาธารณสุข ติดตามการเพิ่ม "ห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย" รพ.ราชวิถี 20 เตียง รองรับผู้ติดเชื้ออาการหนักกลุ่มสีแดง-เหลือง ในเขต กทม.-ปริมณฑล คาดแล้วเสร็จ 19 ก.ค.นี้


นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยในระหว่างติดตามความคืบหน้าการเพิ่มห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย (Extended COVID ER) รองรับผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19 ของโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 ระบุว่า รพ.ราชวิถี ได้เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินอีก 20 เตียง เพื่อนำผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) รวมทั้งผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) และอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ที่มีภาวะร่วมเข้าสู่ระบบการรักษาทันท่วงที

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อมากเกือบ 50% ของการติดเชื้อทั้งประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางจนถึงอาการหนักเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักบางส่วนต้องรอเตียงที่ห้องฉุกเฉิน โดยในเดือน มิ.ย. มีผู้ป่วยโควิดรอเตียงที่ห้องฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี เฉลี่ย 10 รายต่อวัน และเพิ่มมาเป็น 20 รายต่อวันขณะนี้

สำหรับการเพิ่มห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยายดังกล่าว เป็นห้องความดันลบ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน และผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในบริเวณห้องฉุกเฉิน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี ออกแบบและก่อสร้าง โดยใช้เวลาประมาณ 7 วัน และมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 19 ก.ค.นี้

"ขณะนี้เราได้ระดมทรัพยากรที่มีอยู่ มาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ทั้งบุคลากร สถานที่ โดยเฉพาะเตียงที่มีอยู่อย่างจำกัด ขยายให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างเต็มที่ ไม่ให้กระทบกับการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ" นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รพ.ราชวิถี มีห้องสำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ 96 เตียง ในจำนวนนี้เป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 35 เตียง ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงได้ปรับพื้นที่ภายในห้องประชุมเป็นห้องพักผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ (Cohort ER) 10 เตียง และปรับพื้นที่ลานจอดรถให้เป็นห้องฉุกเฉินโควิดส่วนต่อขยาย (Extended COVID ER) 10 เตียง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้จะเป็นห้องมาตรฐานสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น อาทิ ระบบไหลเวียนอากาศ, ระบบมอนิเตอร์ ติดตามอาการผ่านกล้อง cctv, เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ เป็นต้น และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานในหอผู้ป่วยไอซียู ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน