ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์ถึง รมว.สาธารณสุข จี้หยุดใช้หลายยุทธศาสตร์ในเวลาเดียวกัน เสนอกระจายวัคซีนโควิดให้ 7 กลุ่มเสี่ยง ใช้เวลาสั้น-ลดตายได้มาก


สภาเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์ที่ลงนามโดย รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 เรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยระบุตอนหนึ่งว่า อัตราการเสียชีวิตประมาณวันละ 50-60 คน หรือประมาณเดือนละ 1,500-1,800 คน ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอีกใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะเกินขีดความสามารถของระบบบริการที่จะรองรับได้ และมีผลกระทบต่อระบบบริการและบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตและป่วยหนักจากโควิด เป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง ในกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อแล้วมีความเจ็บป่วยรุนแรงต้องการระบบบริการที่ใช้บุคลากร และทรัพยากรจำนวนมากรองรับ และในกลุ่มนี้มีอัตราตายถึง 10% ในขณะที่กลุ่มอื่นที่เหลือมีอัตราตาย 1%

สภาเภสัชกรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศนโยบายกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ หรือที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง และต้องเป็นมาตรการเดียวเท่านั้น จนทุกคนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

“ขอให้หยุดใช้หลายยุทธศาสตร์ในเวลาเดียวกัน ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรงงาน กลุ่มพื้นที่เพื่อเปิดการท่องเที่ยว โดยหวังให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและการคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องใช้เวลานานจนทำให้อัตราตายยังสูงจนระบบบริการสาธารณสุขล่มสลาย” แถลงการณ์สภาเภสัชกรรม ระบุ

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีน ต้องใช้ทุกมาตรการโดยเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ที่ต้องการความกล้าหาญทางนโยบายในการตัดสินใจ และขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซเนก้า สยามไบโอไซส์ ลดสัดส่วนการส่งออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว