ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ได้ข้อสรุป! เตรียมกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็ม 3 ในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ หากไฟเซอร์มาเร็วจะฉีดไฟเซอร์ หากมาช้าใช้แอสตร้าฯ ฉีดแทน


ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (บูสเตอร์) มีความสำคัญ โดยบุคคลกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนบูสเตอร์คือบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 7 แสนคน ซึ่งมีความเสี่ยงในการสัมผัสสูง และฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มไปแล้วราว 3-4 เดือน โดยบูสเตอร์จะเป็นแอสตร้าเซเนก้า หรือ mRNA ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาก็ได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้ในทุกประเทศยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการในเรื่องการฉีดเข็มที่ 3 ฉะนั้นหลักการสำคัญคือต้องฉีดให้ครบ 2 เข็มก่อน เข็มแรกอาจป้องกันน้อย แต่เข็มที่สองช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและตายได้มาก โดยองค์การอนามัยโลกได้มีข้อแนะนำว่า เข็ม 1 และ เข็ม 2 ควรฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน

“ถ้าฉีดแอสตร้าเซเนก้าครบ 2 เข็ม ให้เว้นไป 6 เดือน แล้วค่อยฉีดบูสเตอร์โดส ส่วนผู้ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข้ม ให้เว้น 3-4 เดือน แล้วฉีดบูสเตอร์โดสที่เป็นแพลทฟอร์มอื่น เช่น แอสตร้าเซเนก้า หรือ mRNA ก็ได้” ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม ย้ำกว่า วัคซีนบูสเตอร์โดสไม่ใช่สำหรับบุคคลทั่วไป และยังไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่กำหนดแนวทางหรือไกด์ไลน์ว่าให้มีการฉีดเข็มที่ 3 ขณะนี้คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ อยู่ระหว่างทำการศึกษาเรื่องเข็มที่ 3 อยู่ ว่าตัวไหนจะเหมาะหรือดีที่สุด คาดว่าอีกประมาณ 1 เดือนจะทราบผล และถือเป็นการศึกษาแรกๆ ในโลกนี้ ซึ่งอาจกำหนดเป็นไกด์ไลน์

"การจัดสรรวัคซีนบูสเตอร์จะใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัส ซึ่งก็คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนคน โดยหากวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐส่งมาได้เร็ว ก็จะนำมาฉีดให้ก่อน แต่หากวัคซีนสหรัฐมาช้า เรามีแอสตร้าเซเนก้าอยู่แล้ว ก็จะนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดให้ก่อน" ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว