ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรม ชมรมเภสัชชนบท สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่อนแถลงการณ์ 3 วันติด เรียกร้องรัฐบาลบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ จัดหาวัคซีนที่สู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้ ประชาชนต้องได้วัคซีนที่ดีกว่านี้


สภาวิชาชีพ ชมรมวิชาชีพ สมาคม และเครือข่ายด้านสาธารณสุขจำนวนมาก ได้แสดงจุดยืนพร้อมทั้งออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายวัคซีนโควิด-19 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน

ชมรมเภสัชชนบท ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนคุณภาพแก่ประชาชนและบุคลากรด่านหน้า โดยระบุตอนหนึ่งว่า การปรากฏข้อมูลติดเชื้อของบุคลากรด่านหน้าเพิ่มขึ้นทุกวันในห้วงเวลานี้ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนประเภทเชื้อตายครบ 2 เข็มเป็นส่วนใหญ่ ได้ส่งผลต่อการดูแลรักษาประชาชนที่ติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน ขณะที่การสู้กับโควิด-19 เป็นเวลานาน ทำให้บุคลากรเริ่มอ่อนล้าและมีผลต่อสภาพจิตใจ

ทั้งนี้ ชมรมเภสัชชนบท ขอเรียกร้องต่อ รมว.สาธารณสุข (สธ.) และผู้บริหารในส่วนนโยบายจัดการวัคซีนของประเทศไทย โดยประเด็นเร่งด่วน 1. ให้นำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ มาใช้ต่อบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าเป็นเข็มที่ 3 โดยขอให้ดำเนินการภายในห้วงวัคซีนยี่ห้อหนึ่งจำนวน 1.5 ล้านโดส ที่กำลังจะเข้ามาในทันที

2. ปรับยุทธศาสตร์เร่งฉีดวัคซีนหลักที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์แก่ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป โดยจัดระบบไม่ต้องรอควิว สร้าง Fast Track แก่กลุ่มผู้สูงอายุเพื่อลดอัตราการตาย 3. เร่งจัดส่งเภสัชกรใช้ทุนเข้าพื้นที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ยังค้างรอกระบวนการจัดสรรโดย สธ. จำนวน 388 คน ภายในเดือน ก.ค. 2564 เพื่อเข้าไปหมุนเวียนเปลี่ยนอัตรากำลังคน

“ในระยะยาว เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรด่านหน้า ขอให้ภาคนโยบายสื่อสารข้อมูลที่เป็นจริงเท่านั้นต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง ยึดความถูกต้องบนฐานวิชาการ ไม่เอาใจฝ่ายการเมืองจนละลายความปลอดภัย และประชาชนต้องได้วัคซีนหลักที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่าวัคซีนในปัจจุบัน ” แถลงการณ์ชมรมเภสัชชนบท ระบุ

ทางด้าน สภาเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์ซึ่งลงนามโดย รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 เรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยระบุตอนหนึ่งว่า อัตราการเสียชีวิตประมาณวันละ 50-60 คน หรือประมาณเดือนละ 1,500-1,800 คน ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอีกใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะเกินขีดความสามารถของระบบบริการที่จะรองรับได้

ทั้งนี้ สภาเภสัชกรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศนโยบายกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ หรือที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง และต้องเป็นมาตรการเดียวเท่านั้น จนทุกคนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

“ขอให้หยุดใช้หลายยุทธศาสตร์ในเวลาเดียวกัน ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรงงาน กลุ่มพื้นที่เพื่อเปิดการท่องเที่ยว โดยหวังให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและการคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องใช้เวลานานจนทำให้อัตราตายยังสูงจนระบบบริการสาธารณสุขล่มสลาย” แถลงการณ์สภาเภสัชกรรม ระบุ

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีน ต้องใช้ทุกมาตรการโดยเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ที่ต้องการความกล้าหาญทางนโยบายในการตัดสินใจ และขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซเนก้า สยามไบโอไซส์ ลดส่วนส่วนการส่งออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

ขณะที่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 เรื่อง การจัดการวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ และเร่งดำเนินการนำเข้าวัคซีนทางเลือกมาให้บริการประชาชนอย่างเร็วที่สุด