ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ขอนแก่น เสนอแนวคิดจัดระบบรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจาก กทม.ไปรักษาต่อที่ รพ.ตามภูมิลำเนา  ชี้ถ้าทำได้จะลดการแพร่เชื้อ-ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็ว ย้ำต้องเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธีและต้องเท่านั้น


นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยกับ “The coverage” ตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์เตียงในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยบางราย ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในแคมป์คนงานที่รัฐบาลได้มีการประกาศปิดไปเมื่อต้นสัปดาห์ จำเป็นต้องเดินทางกลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนาเดิมในต่างจังหวัด
 
ทั้งนี้ จึงมีแนวคิดในการจัดหารถพยาบาลเพื่อส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการจาก กทม. ไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่มีเตียงพร้อม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว-ลดการแพร่เชื้อขณะเดินทาง รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่อยู่ในกทม. สามารถเข้าถึงเตียง-การรักษาได้มากขึ้น
 
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือเรื่องของการเดินทาง โดยในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ได้รับการติดต่อจากผู้ป่วย-กลุ่มเสี่ยงที่ต้องการกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนาในจังหวัดขอนแก่น ส่วนตัวก็ได้มีการแนะนำไปว่าดีที่สุดควรจะต้องเดินทางด้วยรถพยาบาล เพราะมีระบบการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปได้
 
อย่างไรก็ตาม การจะให้ผู้ป่วย-กลุ่มเสี่ยงเดินทางด้วยรถพยาบาลนั้นก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูง อยู่ที่ราวๆ 1-1.5 หมื่นบาท สำหรับเหมาไป-กลับ ฉะนั้นผู้ป่วย-กลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มก็จะใช้วิธีเหมารถมาด้วยกัน และเดินทางในช่วงเวลากลางคืน
 ผู้ป่วยบางส่วนมาตามระบบที่ทางสำนักงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดได้ประกาศออกให้ประชาชนในจังหวัดกลับ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาอย่างถูกวิธีด้วยรถพยาบาล” นพ.สมศักดิ์ ระบุ
 
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากสามารถออกแบบระบบส่งต่อและระบบประเมินผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีเตียงรักษาในกทม. และประสงค์จะกลับภูมิลำเนาเดิม โดยให้มาลงชื่อเพื่อประสานหารถพยาบาลมารับไปรักษาที่ต่างจังหวัด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสม รวดเร็ว โดยไม่ต้องนอนรอที่บ้าน
 
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าตรงนี้ต้องอาศัยศูนย์ประสานงาน ทั้งส่วนกลางในกทม. และปริมณฑล ในประสานงานกับผู้ป่วยที่ต้องการกลับภูมิลำเนาในการแจ้งความจำนง เพื่อที่จะได้ทราบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางไปจังหวัดต่างๆ มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบจำนวนเตียงของสถานบริการในแต่ละจังหวัดได้ว่ามีเพียงพอเท่าไหร่
 
“แต่ต้องย้ำว่าควรจะต้องเป็นการเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธีเท่านั้น และต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มอาการสีเขียว เพราะถ้าผู้ป่วยมีอาการมากว่าในกลุ่มสีเขียวจะไม่เหมาะต่อการเคลื่อนย้าย” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อ นอกจากนี้ยังได้มีการแจ้งไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นถึงแนวทางในการจัดระบบนี้แล้ว
 
“ในส่วนของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ฯ เองก็กำลังจะวางระบบนี้ และหาผู้สนับสนุน-ผู้ใจบุญที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนค่าเดินทาง ซึ่งถ้ามีการทำระบบนี้ขึ้นมาก็จะสามารถลดการแพร่เชื้อ และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการมากขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว