ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โควิด-19 ดันปริมาณขยะติดเชื้อประเทศไทยพุ่ง สธ.เปิดข้อมูล ณ เดือนเม.ย. 2564 พบสูงสุดเฉลี่ยวันละ 178 ตัน


นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ปริมาณมูลฝอยทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ข้อมูลเดือนเม.ย. 2564 เพียงเดือนเดียว พบมูลฝอยติดเชื้อจากการตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล การกักกัน การฉีดวัคซีน สูงที่สุดเฉลี่ย 178 ตันต่อวัน

ทั้งนี้ ข้อมูลระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย. 2564 พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40.9 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.7

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ    ในครัวเรือนหรือชุมชนในกรณีพบผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงว่า หากเป็นพื้นที่ที่ระบบการเก็บขนส่งมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ให้ดำเนินการดังนี้

 1. เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อ ให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ (สารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ 5,000 ppm หรือแอลกอฮอล์ 70%) บริเวณปากถุงแล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น แล้วมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง

2. เคลื่อนย้ายไปพักยังที่พักที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้อง

3. ภายหลังจัดการมูลฝอยแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนทั่วไปหากต้องทิ้งหน้ากากอนามัย ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เริ่มจากถอดหน้ากาก โดยจับสายรัดและถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง จากนั้นให้พับหรือม้วนหน้ากากส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าหากัน จนมีขนาดเล็กแล้วมัดด้วยสายรัดให้แน่น โดยหากสถานที่นั้นมีจุดทิ้งหน้ากากไว้เป็นการเฉพาะให้ทิ้งลงในถังหรือภาชนะนั้น

กรณีสถานที่นั้นไม่มีจุดสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย ให้นำหน้ากากอนามัยที่พับแล้วใส่ถุงพลาสติก จากนั้นมัดหรือปิดปากถุงให้แน่น ก่อนทิ้งลงในถังหรือภาชนะรองรับขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังการทิ้ง