ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม ครม. ไฟเขียวหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้ให้บุคคลธรรมดา-นิติบุคคล ที่บริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ผ่านระบบ e-Donation ให้สำนักนายกรัฐมนตรี ออกไปถึง มี.ค. 65


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 5 มี.ค. 2565

ทั้งนี้ ในส่วนของบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น ขณะที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะการบริจาคสินค้าให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 5 มี.ค. 2565

ทั้งนี้ กค. คาดว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ประกอบด้วย 1. เป็นการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน

2. มีส่วนช่วยรักษา ฟื้นฟู เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 3. เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 และทำให้เกิดพลังสามัคคีในประเทศ 4. ช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19

อนึ่ง ที่มาของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 701) พ.ศ.2563 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 สปน. จึงขอให้ กค. (กรมสรรพากร) พิจารณาขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี

ขณะเดียวกันพบว่าตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 5 มี.ค. 2564 มีผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาจำนวน 53 ราย ได้บริจาคเป็นจำนวน 3.96 ล้านบาท และผู้บริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจำนวน 64 ราย ได้บริจาคเป็นจำนวน 22.07 ล้านบาท รวมมีผู้บริจาคทั้งหมดจำนวน 117 ราย เป็นเงินรวม 26.03 ล้านบาท โดย สปน. ได้นำเงินบริจาคดังกล่าวไปใช้ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนรวม 102 ราย

ดังนั้น กค. พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเห็นควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19