ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรผู้บริโภค ยืนยันข้อเรียกร้องให้ "กรมการค้าภายใน" ตรวจสอบค่าบริการโรงพยาบาลเอกชน หวั่นเป็นข้ออ้างว่า สปสช.จ่ายต่ำเกินไป-ขอเพิ่มราคาอีก


น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในมุมมองของผู้บริโภคยังคงต้องการให้กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ เข้ามาตรวจสอบการตั้งราคาของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการตั้งราคาสูงกว่าราคาต้นทุนอย่างมาก จนมีกรณีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วยโควิด-19

ทั้งนี้ แม้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จะมีการบวกกำไรให้แล้ว 25% แต่ก็ยังพบว่าเอกชนมีการตั้งราคาสูงกว่าต้นทุนอย่างมาก เช่น ผ้าก๊อซ ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกเรียกเก็บราคา 800 บาท หรือหน้ากาก N95 ราคาตลาดขายในท้องตลาดชิ้นละ 65-70 บาท แต่บางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึง 226-282%

อย่างไรก็ตาม แม้ทางเครือข่ายผู้บริโภคจะเคยผลักดันให้กรมการค้าภายใน เข้ามาดูแลค่าบริการทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ จนกระทั่งมีการประกาศให้เป็นบริการควบคุม ซึ่งจะคิดราคาแพงเกินสมควรไม่ได้ และอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการที่จะนำมาใช้กำกับดูแล รวมถึงล่าสุดที่ทางนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะออกมายืนยันว่าเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วยไม่ได้ ก็ยังคงพบกรณีที่เกิดขึ้น

"อย่างกรณีเมื่อเร็วๆ นี้มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง สื่อสารในทำนองว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่ารัฐกำหนดราคาไว้ ผู้ป่วยจะต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างทั้งหมด เราคิดว่าถ้ายังทำแบบนี้ก็อยากให้กรมการค้าภายในไปตรวจสอบหน่อย มันไม่ควรให้เกิดเรื่องแบบนี้แล้วมานั่งดูเป็นรายกรณี" น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญเนื่องจากเมื่อมีการตั้งราคาในลักษณะนี้ ต่อไปอาจเป็นเหตุผลที่โรงพยาบาลเอกชนนำมาอ้างว่า สปสช.จ่ายในราคาที่ต่ำเกินไป แล้วขอให้เพิ่มราคาขึ้นมาอีก เช่น อาจขอเพิ่มจาก 25% เป็น 50% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นวิกฤติในวิกฤติ และรัฐก็จะต้องแบกรับภาระเกินสมควร ทั้งที่เม็ดเงินในขณะนี้ควรต้องใช้ในดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด 

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า นอกจากเรียกร้องไปยังกรมการค้าภายในแล้ว ก็ยังอยากให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะผู้กำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชน เข้มงวดในการกำกับดูแลด้วย เพราะแม้หลักการจะบอกว่าห้ามเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย และหากใครโดนเก็บเงินก็ให้ร้องเรียนมาที่สายด่วนของ สปสช. หรือ สบส.ได้ แต่ในชีวิตจริงก็รับรู้กันว่ายังมีเรื่องแบบนี้อยู่

"ประชาชนหลายคนก็ยังไม่ทราบสิทธิของตัวเอง บางครั้งก็ยอมๆ ไปเพราะไม่อยากมาร้องเรียนให้ยุ่งยากเสียเวลา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจริยธรรมด้วย การที่คุณคิดราคาแพงแล้วทำให้เกิดความเดือดร้อนเกินสมควร มันก็ผิดจริยธรรม ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วก็ไม่ควรมาซ้ำเติมกันอีก" น.ส.สุภัทรา กล่าว