ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ธรรมศาสตร์” ตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกประชาชน ครอบคลุมนักศึกษา-คณาจารย์-เจ้าหน้าที่ ชาวบ้านในพื้นที่ รวมกว่า 3,000 ราย ย้ำต้องการช่วยชาติสู้วิกฤต ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี เดินหน้าคัดกรองเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวมถึงนักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 4-5 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารเรียนรวม 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีความกังวล และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ทาง มธ. จึงได้ร่วมกับสํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้แก่ประชาชนที่อยู่ใน จ.ปทุมธานี และชุมชนที่อยู่ในละแวกมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย

สำหรับการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ มีผู้ขอเข้ารับการตรวจเป็นจำนวนมากถึง 3,093 ราย โดยใช้วิธีการตรวจแบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่มีความแม่นยำสูง โดยสํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี ได้นำรถพระราชทาน รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit) จำนวน 2 คัน รวมถึงรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ (Express Analysis Mobile Unit) เพื่อใช้ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ออกตรวจวิเคราะห์ผล COVID-19 นอกโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขนส่งตัวอย่างและระยะเวลาในการรอผลวิเคราะห์

รศ.เกศินี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาคมธรรมศาสตร์ และผู้ที่พักอาศัยในชุมชนโดยรอบ จึงไม่ได้ดูแลเฉพาะชาวธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสนับสนุนผู้ที่ประกอบอาชีพต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น พ่อค้า แม่ค้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แม่บ้าน แรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรค และทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย

"มธ.ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนคนไทยและคนต่างชาติ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ภายใต้ทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการช่วยประเทศสู้วิกฤต และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการด้วยความภาคภูมิใจในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" รศ.เกศินี กล่าว