ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ป่วยไตเดือดร้อนจากมาตรการกักตัวที่บ้าน 14 วัน ทำให้ต้องหยุดการฟอกเลือดไป 6-7 ครั้ง เกิดภาวะของเสียสะสมในร่างกายและอาจเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้


นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายติดเชื้อโควิดแล้วหลายราย โดยกลุ่มผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องแม้จะติดโควิดแต่ยังสามารถทำการบำบัดทนแทนไตที่บ้านได้ ส่วนกลุ่มที่ต้องฟอกเลือดประสบปัญหาโรงพยาบาลเตียงเต็ม ต้องพักอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาลที่จะให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมก็ยังไม่มีความพร้อมในการจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดแบบเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อไม่มีสถานที่สำหรับกักกันตัวผู้ป่วยไตวายเรื้อรังโดยเฉพาะ ทำให้ต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน และประสบปัญหาว่าในแต่ละสัปดาห์จะต้องไปรับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสัปดาห์ละ  2-3 ครั้ง ซึ่งหากต้องอยู่บ้าน 14 วัน เท่ากับไม่ได้ไปฟอกเลือด 6-7 ครั้ง

"พอขาดการฟอกเลือดไป 6-7 ครั้งจะเกิดภาวะของเสียสะสมในร่างกายและที่น่ากังวลคืออาจเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้" นายธนพล กล่าว

นายธนพล กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นได้กำหนดการแก้ไขปัญหาไว้ 2-3 แนวทาง เช่น ในกรุงเทพมหานคร (กทม”) อาจต้องมีโรงพยาบาลสนามหรือหน่วยบริการที่รองรับในการการบำบัดทดแทนไตให้แก่ผู้ป่วยกระจายอยู่ทั้ง 4 มุมเมือง ส่วนในต่างจังหวัดก็ต้องมีหน่วยบริการรองรับและให้การบำบัดทดแทนไตให้กับผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก

“หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลแล้วจะกลับไปหาแนวทางแก้ปัญหาและคาดว่าภายในวันที่ 28 เม.ย. 2564 นี้น่าจะมีทิศทางการช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ติดเชื้อโควิด-19  ที่ชัดเจนมากขึ้น” นายธนพล กล่าว

อนึ่ง การประชุมนัดพิเศษตามคำขอของสมาคมเพื่อนโรคไตฯ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กรณีบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียม (ฟอกเลือด) ที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ซึ่งต้องกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน โดยมีตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคไตวายเรื้อรัง เช่น คณะทำงานพัฒนาระบบบริการด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการไตระดับเขตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม มาประชุมรับทราบข้อมูลในเบื้องต้น