ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักระบาดวิทยา เชื่อยอดผู้ติดเชื้อจะยังพุ่งถึงสิ้นเดือน เม.ย. เหตุยังมีประชาชนที่ไม่ได้ไปตรวจ หวั่นกระจายตามชุมชน-ไปไหนก็เจอเชื้อ ระบุยิ่งติดเชื้อมากยิ่งเพิ่มโอกาสการกลายพันธุ์มาก


ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาระบาดวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวมองว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะยังคงสูงขึ้นไปอีกสักพัก จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.เป็นอย่างน้อย เนื่องจากประชาชนบางรายอาจจะยังไม่ได้ไปตรวจ หรือตรวจไม่ทัน ทำให้มีเชื้อแพร่กระจายไปตามชุมชน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โอกาสที่คนทั่วไปจะได้รับเชื้อจึงมีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่ว่าจะไปทางใดก็เจอแต่ผู้ติดเชื้อ เมื่อเทียบกับช่วงที่มีการติดเชื้อจำนวนน้อย ที่มีความเสี่ยงน้อยเพราะมีผู้ใกล้ชิดเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ขณะนี้ความเสี่ยงไม่ขึ้นอยู่แต่เพียงกับบุคคลเท่านั้น เพราะยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อมภายนอกอีกด้วย

“ความเสี่ยงของแต่ละคนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าล้างมือ หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าคุณได้ไปอยู่ในสถานที่ที่มีเชื้อโรคด้วยหรือเปล่า” ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว 

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มที่เชื้อจะกลายพันธุ์หรือไม่นั้น ตามทฤษฎีของการกลายพันธุ์ระบุไว้ว่าถ้ามีประชากรเยอะ โอกาสที่จะเกิดกลายพันธุ์ก็มีเยอะขึ้น เพราะจะต้องมีการเผื่อเชื้อกลายพันธุ์ที่ตายไปจากการถอดรหัสพันธุกรรมที่ผิดพลาด หากเชื้อตัวไหนเก่งก็จะได้รับการคัดเลือกที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ และในระยะต่อไปก็จะกลายเป็นการกลายพันธุ์ในประเทศเอง 

“การกลายพันธุ์นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิวัฒนาการณ์ของเชื้อ ยิ่งถ้าเชื้อมีการเพิ่มจำนวนเยอะมากขึ้นเท่าไหร่ การกลายพันธุ์ที่ทำให้เชื้ออยู่รอดและเก่งนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยกรณีการติดเชื้อในทุกๆ 1 แสนราย จะพบว่ามีเชื้อกลายพันธุ์จำนวน 1 ตัว” ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว 

ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีเป็นระยะ โดยเริ่มจากมีอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงผู้ป่วยบางรายที่เริ่มมีอาการหนัก และจะต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เช่น เริ่มมีอาการปอดบวม ซึ่งในบรรดาผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมนั้น บางรายจำเป็นจะต้องเข้ารักษาต่อใน ICU โดยการอยู่ใน ICU นั้นก็อาจจะใช้ระยะเวลาในการรักษาเป็นเดือนก่อนที่ผู้ป่วยจะหายหรือเสียชีวิต

“ด้วยเหตุนี้ยอดผู้ป่วยใน ICU ก็จะสะสมต่อไป และออกช้า เมื่อเป็นเช่นนั้นเมื่อ ICU เริ่มแย่ ก็จะส่งผลให้โรงพยาบาลเริ่มแย่ลงไปด้วยตามลำดับ” อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ ระบุ

ศ.นพ.วีระศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งเหล่านี้จะต้องขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆ โดยประชาชนชนจำเป็นจะต้องติดตามข่าว ซึ่งในกรณีที่เกิดปัญหาควรต้องโทรศัพท์ติดต่อเบอร์สายด่วนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรึกษาเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังต้องป้องกันตัวเองให้ดี เนื่องสภาพแวดล้อมภายนอกนั้นถ้ามีเชื้อเยอะ ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็มีมากขึ้น