ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิ่งที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าสถานการณ์โควิด 19 ระบาดระลอกใหม่ คือ “ปัญหาพนัน” ในสังคมไทย ทั้งการพนันปกติแบบออฟไลน์อย่าง บ่อน และหวยใต้ดิน และพนันออนไลน์จากเว็บไซต์ เกมออนไลน์ และแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ดูจะเฟื่องฟูขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน

ล่าสุดแม้แต่ในโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ก็ยังมีการรวมตัวตั้งวงไพ่ โดยอ้างว่าเล่นเพื่อหารายได้ช่วงตกงาน แบบไม่สนมาตรการเว้นระยะห่างในสังคม หรือ Social Distancing

ขณะที่การเข้าทะลายบ่อน จับกุม หรือไล่ปิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชันพนัน แต่ไม่สามารถจับกุม และลงโทษเจ้ามือ  เจ้าของบ่อน เจ้าของสถานที่ แม้แต่เจ้าของเว็บไซต์พนันให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายปราบพนันของไทยยังล้าหลัง ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการพนันอย่างเป็นทางการฉบับแรก คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2473 ต่อมามีการปรับปรุงเพียง 1 ครั้ง และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็น พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478  ซึ่งหลังจากนั้นแม้จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นมาหารือกันหลายครั้งในหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยมีการปรับปรุงกฎหมายการพนันให้ทันสมัยอย่างเป็น กิจลักษณะอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

นั่นหมายความว่า พ.ร.บ.การพนันฯ ของไทยถูกใช้มาแล้วถึง 86 ปี! หรือกว่า 7 ทศวรรษ

กระทั่ง “คณะทำงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาบ่อนการพนันและการพนันออนไลน์” ใน คณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร ที่มี นายอรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือเพื่อปรับปรุง กฎหมายการพนันของไทยให้มีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พงศธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาบ่อนการพนันและการพนันออนไลน์ฯ เปิดเผยถึงผลความคืบหน้าการศึกษาหารือว่า เบื้องต้นทางคณะทำงานฯ ได้เสนอแนวทางในการยกเครื่อง “New LAW for New Normal” ในการจัดการกำกับดูแล 8 สถานการณ์ปัญหาการพนัน กับ 6 แนวทางยกระดับ กฏหมาย

สำหรับ 8 สถานการณ์ปัญหาการพนัน ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ 1. การพนันล้อมบ้านล้อมเมือง   ทั้งใต้ดิน บนดิน ออนไลน์ ชายแดน รวมถึงที่แฝงมากับโฆษณาเชิญชวนต่างๆ 2. กฏหมายและกลไกกำกับดูแล ควบคุมล้าหลังไม่ทันสถานการณ์ ใช้มานานกว่า 86 ปี โดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไข 3. บทลงโทษเจ้ามือ ผู้เชิญชวน ผู้เล่นการพนันที่ผิดกฏหมาย มีโทษน้อย ปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท และส่วนมากถูกตัดสินเป็น คดีลหุโทษ ส่งผลให้ไม่เกิดความเกรงกลัว

4. ขาดแรงจูงใจเชิงรุกให้กับเจ้าพนักงานและประชาชนผู้แจ้งเบาะแส  ทำให้การระบาดของการพนัน ผิดกฏหมายรุกหนัก 5. กลไกการกำกับดูแลบังคับใช้กฏหมายนั้นแยกกันทำ ไม่บูรณาการ และดำเนินการ เชิงรับมากกว่า 6. ขาดระบบติดตามนโยบายแก้ไขปัญหาการพนันอย่างต่อเนื่อง ตรงจุด เฉพาะพื้นที่ 7. ไม่มี กลไกป้องกัน กลไกสร้างความตระหนัก ระบบพัฒนาวิจัยปัญหาพนันระดับชาติ รวมถึงการช่วยเหลือด้าน สุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนันอย่างต่อเนื่อง 8. ยังไม่มีระบบ มาตรการ กลไก ที่รองรับการจัดการการพนันชนิดใหม่ๆ ที่อาจจะไปสู่การพนันที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตในอนาคต

ขณะที่ 6 แนวทางเพื่อยกเครื่องการจัดการปัญหาพนันในประเทศไทย ทางคณะทำงานฯ เห็น ควรว่า 1. ต้องมีกฏหมายพนันฉบับใหม่ โดยโครงสร้างของกฎหมายต้องกำหนดคำนิยาม และลักษณะการ พนันให้รองรับการตีความประเภทการพนันที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีระบบการจัดการกำกับควบคุมการพนัน การช่วยเหลือเยียวยา และบทลงโทษที่ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ 2. เพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้นอย่าง ครอบคลุม ทั่วถึง และสอดคล้องกับบริบทประเทศไทย เช่น พิจารณาบทลงโทษผู้เล่นตามลักษณะของ ขนาดการเล่นการพนัน ขณะที่เจ้ามือหรือผู้จัดให้มีการเล่นต้องรับโทษหนักขึ้น รวมถึงผู้เชิญชวนทางออนไลน์ และมีค่าปรับเป็นวงเงิน 10% ของการเล่นพนันวงนั้นๆ

3. มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการพนัน และกองทุนพัฒนา งานวิจัยที่เกี่ยวกับพนันในทุกมิติ อีกทั้งยังต้องเพิ่มการรณรงค์ ส่งเสริมมาตรการป้องกัน และมาตรการปราบ ปรามการพนัน 4. มีมาตรการจูงใจและการทำงานเชิงรุก ในการแจ้งเบาะแสจับกุมผู้กระทำความผิดการพนันที่ผิดกฏหมาย เช่น ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าปรับผู้กระทำความผิดการ พนันในครั้งนั้น ยกตัวอย่างเน็ตไอดอลโพสต์เชิญชวนเล่นพนันออนไลน์ ศาลมีคำสั่งปรับ 100,000 บาท ผู้ที่แจ้งเบาะแสจนนำไปสู่การตัดสินโทษจะได้รับรางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ คือ 50,000 บาท เป็นต้น

5. มีกลไกการบูรณาการมาตรการการบังคับใช้กฏหมาย รวมถึงนโยบาย พร้อมนำเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาพนันในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง 6. มีกลไกในการกำกับดูแล อนุญาต และควบคุมการพนันที่ได้รับอนุญาต และที่ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งในระดับประเทศ และระดับ จังหวัด โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

“เชียร์ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พนันฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ ในส่วนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ มสช. เรามองว่าธุรกิจการพนันเป็น ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ผู้เล่นการพนันมีโอกาสเป็นโรคติดพนัน ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวช และนำไปสู่ผล กระทบด้านสุขภาพจิตอื่นๆ โดยเฉพาะเยาวชน หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เล่นการพนันโดยขาดการดูแล ควบคุม และเล่นการพนันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก ก็จะทำให้เขาขาดวุฒิภาวะ และเป็นช่องทางไปสู่การเป็น อาชญากรเพื่อใช้หนี้พนันในอนาคตได้” พงศธร กล่าว

ข้อเสนอจึงจำเป็นต้องผลักดันให้มีกลไกทางกฎหมายในการกำกับ และช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงต้องมีระบบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ พนัน เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ประชาชนเป็นโรคติดพนันอย่างยั่งยืนสืบไป