ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัดแล้วเกือบ 1 แสนรายในรอบ 1 เดือน สธ.จัดระบบส่งกลับปลอดภัย-ป้องกันการแพร่เชื้อ ปรับบทบาทบุคลากรหมอฟัน-เภสัช-นักวิชาการ ช่วยภาระงานหมอ-พยาบาล


นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทำให้มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลกลับสู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยจากข้อมูลของทั้ง 12 เขตสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. - 4 ส.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับต่างจังหวัดและเข้าระบบการดูแลรักษาแล้ว 94,664 คน 

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับ พบว่ามากกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลางและตะวันออก และภาคใต้ ตามลำดับ โดยช่วงแรกส่วนใหญ่ผู้ป่วยเดินทางกลับด้วยตนเอง มีทั้งติดต่อโรงพยาบาลปลายทางและไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นความเสี่ยงแพร่เชื้อระหว่างเดินทางและในพื้นที่ ขณะที่หลายจังหวัดมีการจัดทำโครงการรับผู้ติดเชื้อกลับบ้าน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดยานพาหนะรับส่ง 

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายให้ สธ. ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย จัดบริการรับผู้ติดเชื้อกลับบ้านอย่างปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชน โดยประชาชนที่จะกลับต่างจังหวัดสามารถติดต่อประสานงานล่วงหน้ากับ สปสช. เพื่อประเมินอาการก่อนเดินทาง

ขณะที่ระหว่างเดินทางจะต้องใส่หน้ากากตลอด เตรียมยาโรคประจำตัวให้พร้อม เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินโทร 1669 หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำให้ล้างมือก่อนและหลังใช้ เมื่อเดินทางถึงจุดนัดที่ภูมิลำเนาจะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อแยกอาการ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย รักษาได้ทั้งในโรงพยาบาลสนามที่บ้านและชุมชน 

ในส่วนของผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง อาการปานกลาง จะพิจารณารักษาในโรงพยาบาลชุมชน หรือบางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมากได้จัดเป็นโรงพยาบาลโควิดโดยเฉพาะ และกลุ่มสีแดง มีอาการรุนแรง มีอาการเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง จะรักษาในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมามีการเพิ่มเตียงไอซียูรองรับ และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยภายในเขตสุขภาพ

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานทั้งหมดจะช่วยให้มีเตียงรับผู้ป่วยรักษาได้อย่างเหมาะสมตามอาการ อย่างไรก็ตามขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดมีภาระงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดทีมเข้ามาช่วยเหลือพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ดูแลผู้ติดเชื้อในพื้นที่ และดูแลผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมารักษา สธ.จึงปรับบทบาทการทำงานของบุคลากร

"เช่น ทันตแพทย์ช่วยเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อ ลดภาระแพทย์ พยาบาล หรือให้เภสัชกรและนักวิชาการสาธารณสุข มาช่วยทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ เป็นต้น รวมทั้งกรมสุขภาพจิตได้มีการวางระบบให้คำแนะนำแก่ผู้บริหาร ในการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เหนื่อยล้าจากทำงานสู้โควิดมายาวนานใกล้จะ 2 ปี" นพ.ธงชัย กล่าว