ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก.สาธารณสุข เตือนอย่าหลงเชื่อข้อมูลโซเชียลแชร์ ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วภูมิไม่ขึ้น ชี้ชุดตรวจ Rapid Test หลายชนิดใช้ตรวจภูมิคุ้มกันกรณีฉีดวัคซีนไม่ได้ ต้องใช้วิธีเฉพาะ ยืนยันพบภูมิคุ้มกันสูง


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่าภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว (Rapid Test) พบว่าภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นนั้น เนื่องมาจากการตรวจด้วยชุดตรวจเร็วบางชนิด เป็นการตรวจปลอกหุ้มสารพันธุกรรม (Neucleocapsid protein) จึงจะไม่สามารถตรวจพบได้

ทั้งนี้ การตรวจภูมิคุ้มกันต้องใช้วิธีตรวจที่เฉพาะต่อ spike protein โดยวิธีหนึ่งที่เป็นมาตรฐาน คือ PRNT (Plaque Reduction Neutralization Test) ซึ่งต้องตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 โดยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาใส่ในจานเพาะเชื้อที่มีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ จึงจะสามารถบ่งบอกระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นได้

"รมว.สาธารณสุข ก็ได้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อ spike protein ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประมาณ 15 วันหลังฉีดครบ 2 เข็ม ก็พบว่ามีภูมิคุ้มกันขึ้น และผลตรวจของผมหลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม 14 วัน ก็พบว่า มีระดับภูมิคุ้มกัน สามารถทำลายไวรัสสายพันธุ์ที่พบแรกๆ ในประเทศตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ในระดับสูงถึง 115" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในส่วนของสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์อู่ฮั่นมีระดับภูมิคุ้มกันสูง 85 สายพันธุ์ที่ระบาดช่วงเดือน ม.ค. 2564 สูง 90 ส่วนสายพันธุ์ G ที่กำลังระบาดทั่วโลก มีระดับภูมิคุ้มกันลดลงอยู่ 40-50 ซึ่งยังสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่บริษัทซิโนแวคได้วิจัยเพื่อยื่นขอทะเบียนที่ 24

"ในงานวิจัยของประเทศชิลี ก็พบว่าหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เดือน ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยหลังฉีด 14 วันระดับภูมิคุ้มกันสูงร้อยละ 47.8 ส่วนหลังฉีด 28 วัน และ 42 วัน เพิ่มร้อยละ 95.6 เท่ากัน โดยมีระดับภูมิคุ้มกันสูงเป็นพัน เป็นข้อยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยระดับภูมิคุ้มกันโรคในคนไทย" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมฯ ยังได้ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล แคลิฟอร์เนีย ไนจีเรีย และล่าสุดคือสายพันธุ์อินเดีย B1.617 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าการกลายพันธุ์เกี่ยวข้องการการระบาดที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ และวัคซีนสามารถป้องกันได้หรือไม่