ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กทม.จับมือ สปสช. เปิด 3 บริการดูแลผู้ป่วย “เจาะเลือดที่บ้าน-รักษาทางไกล-รับยาใกล้บ้าน” เริ่มใน 9 โรงพยาบาล ดีเดย์ 1 มี.ค.นี้


กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดโครงการ “3 บริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19” ในหน่วยบริการสังกัด กทม. ประกอบด้วย 1. บริการเจาะเลือดถึงบ้าน 2. บริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine 3. บริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์ โดยจะเริ่มในโรงพยาบาล 9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป

สำหรับโรงพยาบาล 9 แห่ง ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลกลาง 2. โรงพยาบาลตากสิน 3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 4.โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ 5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 6. โรงพยาบาลลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 8. โรงพยาบาลสิรินธร 9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 

ในส่วนของโครงการ “เจาะเลือดถึงบ้าน” จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคอ้วน โดยแพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมผู้ป่วยก่อน ส่วนขั้นตอนการเจาะเลือด นักเทคนิคการแพทย์จะนัดหมายรับข้อมูลผู้ป่วย แผนที่บ้านพร้อมอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ จากนั้นจะโทรประสานนัดหมายและเดินทางไปเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจถึงบ้าน

จากนั้น หากผู้ป่วยมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการปกติและแพทย์เห็นสมควร ก็สามารถรับ “บริการรักษาทางไกล” หรือ Telemedicine ได้ โดยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกส่งต่อให้แพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบ Video Call 

นอกจากนี้ ยังมีบริการ “รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือทางไปรษณีย์” โดยหลังจากที่แพทย์วินิจฉัยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซักถามอาการจากผู้ป่วยผ่าน  Video Call และสั่งจ่ายยาแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์จะถูกส่งไปที่ห้องยาของโรงพยาบาล ทางเภสัชกรจะแพ็คยาแล้วจัดส่งไปยังร้านยาที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วย หรือที่บ้านผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับยาที่ร้านยาหรือรอรับยาที่บ้านได้เลยโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสังกัด กทม. มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยการให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณปีละ 3.9 - 4 ล้านครั้ง และมีผู้ป่วยในปีละประมาณ 1 แสนราย ส่วนมากป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ประชาชนที่มารับบริการต้องรอคิวนาน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ

สำหรับโครงการดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการพัฒนาระบบบริหาร-บริการสุขภาพ โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดอุปสรรคจากการเดินทาง ลดความเสี่ยงจากโควิด-19

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กทม.เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการที่บ้านแทนที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศไทย ตรงนี้สะท้อนว่า กทม. มีความพยายามดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสที่จะเข้าถึงบริการได้น้อย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือผู้พิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด