ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นการประชุม ครม. ‘นัดแรก’ ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ตามที่นายเศรษฐา ได้มอบหมายให้ สธ. เร่งรัดการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกระดับการดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคโดยด่วน 

ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการปรับปรุงระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น 

การรายงานความคืบในการดำเนินงานยกระดับ “นโยบาย 30 รักษาทุกโรค” ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมาย แนวทางพัฒนา กิจกรรมตัวชี้วัดระยะต้น (100 วันแรก) และในระยะต่อไป (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567) มีผลการดำเนินงานจากข้อมูลเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 ประกอบด้วย 3 หัวข้อ

1. เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น ประชาชนไม่ต้องลำบากเดินทางไปไกล โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย

ด้านดิจิทัลสุขภาพ ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยมีผลการดำเนินงานระยะสั้น นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนราธิวาส จากผลการดำเนินงาน มีประชาชนขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 583,159 คน ซึ่งระยะต่อไป คือ ร้อยละ 100 โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เชื่อมโยงข้อมูลระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล และส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใน 12 เขตสุขภาพ 

โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยมีผลระยะสั้น โรงพยาบาลสังกัด สป.สธ. ผ่านเกณฑ์ประเมิน Smart Hospital ระดับเงิน จำนวน 200 แห่ง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประเมินผล ซึ่งในระยะต่อไป คือ โรงพยาบาลสังกัด สป.สธ. ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับเงินร้อยละ 50 จำนวน 450 แห่ง 

การพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การนัดหมอออกจากบ้าน นัดคิวออนไลน์ และบริการ Telehealth โดยในระยะสั้น นัดหมายพบแพทย์ ตรวจเลือด รับยาใกล้บ้าน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ดำเนินการแล้ว 76 จังหวัด ซึ่งในระยะต่อไป คือ มีผู้รับบริการตามนโยบายบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) จำนวน 5,854,015 ครั้ง 

Smart อสม. โดยมีการดำเนินงานในระยะสั้น ปรับปรุงแอปพลิเคชัน Smart อสม. ซึ่งในระยะต่อไป คือ อสม. มีศักยภาพจัดบริการปฐมภูมิขั้นพื้นฐานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ร้อยละ 65

2. เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 

พัฒนาศักยภาพการวินิจฉัย CT Scan และ MRI ในระยะสั้น โรงพยาบาลระดับ A (โรงพยาบาลขนาด 500 เตียงขึ้นไป ที่มีขีดความสามารถรองงรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาที่ยุ่งยาก ซับบซ้อน) อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างเหมาบริการ CT Scan จำนวน 12 เครื่อง ดำเนินการแล้ว 9 เครื่อง ซึ่งในระยะต่อไป คือ โรงพยาบาลระดับ A จะอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างเหมาบริการ CT Scan ร้อยละ 100 

การสร้างขวัญ และกำลังใจ ในระยะสั้นบรรจุตำแหน่งวิชาชีพ 3,000 อัตรา ดำเนินการแล้ว 2,210 อัตรา ซึ่งในระยะต่อไป คือ ลดขั้นตอน ภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ 

การจัดตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร (กทม.) 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล ในระยะสั้น จัดตั้งโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ในเขตดอนเมือง และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จากผลการดำเนินการยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลเขตดอนเมืองขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง โดยมีโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ และเปิดบริการผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานในระยะต่อไป คือ โรงพยาบาลขนาดทุติยภูมิ ในพื้นที่ กทม. รับผู้ป่วยได้ 25 เตียง และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รับผู้ป่วยในอายุรกรรม ศัลยกรรมทั่วไป เปิดบริการผู้ป่วยนอกเวชศาสตร์ฟื้นฟู 

การพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้ต้องขัง ในโครงการราชทัณฑ์ปัญสุขฯ ในระยะสั้นเครือข่ายราชทัณฑ์ปัญสุขฯ ต้นแบบครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ โดยดำเนินการแล้ว ซึ่งในระยะต่อไป คือ ผู้ต้องขังได้รับบริการสุขภาพตามมาตรฐานตามสิทธิประโยชน์ จำนวน 307,800 ครั้ง และร้อยละ 90 ของเรือนจำ มีระบบการรักษาพยายามตามมาตรฐานขั้นต่ำ 

3. เป้าหมายการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูและการดูแลระยะสุดท้าย โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 

สถานชีวาภิบาล ในระยะสั้นจัดตั้งสถานชีวาภิบาลจังหวัดละ 1 แห่ง รวม 76 จังหวัด มีเป้าหมายร้อยละ 80 ดำเนินการแล้ว 44 จังหวัด (ร้อยละ 58) ซึ่งในระยะต่อไป คือ จัดตั้ง Hospital at Home หรือ Home Ward จังหวัดละ 1 แห่ง และมีคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับ 

สุขภาพจิต และยาเสพติด ในระยะสั้น จัดตั้งศูนย์มินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัด ดำเนินการแล้ว 42 จังหวัด มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัดในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทั้งหมด จำนวน 127 แห่ง ดำเนินการแล้ว 69 แห่ง และมีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 776 แห่ง ดำเนินการแล้ว 626 แห่ง ซึ่งในระยะต่อไป ร้อยละ 100 ของมินิธัญญารักษ์ ได้รับการติดตาม ประเมิน รับรองคุณภาพมาตรฐานตามที่ สธ. กำหนด 

เศรษฐกิจสุขภาพ ในระยะสั้นมี Blue Zone ต้นแบบเมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน จำนวน 19 แห่ง ดำเนินการแล้ว 1 แห่ง ซึ่งในระยะต่อไป คือ มี Healthy Cities MODELs จังหวัดละ 1 แห่ง 

วัคซีนเอชพีวี (HPV) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี ในระยะสั้น ฉีดวัคซีน HPV ในหญิงอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส ดำเนินการฉีดแล้ว 807,604 โดส ซึ่งในระยะต่อไป คือ หญิงอายุ 11-20 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก จำนวน 1,747,000 โดส 

ทั้งนี้ สธ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 258/2566 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ลงวันที่ 3 ต.ค. 2566 ขณะเดียวกันในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 นั้น ที่ประชุมมีมติให้เร่งขยายพื้นที่การดำเนินการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เพิ่มจาก 4 จังหวัดนำร่อง (แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส) ให้เร็วที่สุด และหากจังหวัดใดมีความพร้อมเพียงพอให้เริ่มดำเนินการในระยะที่ 2 ทันที โดยต้องเชื่อมโยงข้อมูลระบบเข้าด้วยกัน