ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ครบรอบ 21 ปี ก้าวสู่ปีที่ 22 ขับเคลื่อนยกระดับบัตรทอง สู่ “30 บาท อัพเกรด” เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน หนุนเดินหน้า “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” จัดสรรงบประมาณสนับสนุนนโยบาย Quick win ทั้งวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สถานชีวาภิบาล และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน พร้อมขับเคลื่อน “ให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ”


เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงานครบรอบ “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พ.ย. ของทุกปี โดยปีนี้เป็นการครบรอบปีที่ 21 พร้อมก้าวสู่ปีที่ 22” โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมร่วมรำลึกถึงการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมวางพวงมาลัยรูป นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรกและเป็นผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีอดีตผู้บริหาร สปสช. และแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน

1

1

ทั้งนี้ ภายในงาน พระราชวัชรธรรมภาณี (ส.ณ. สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ พระอารามหลวง ได้แสดงพระรรมเทศนา เรื่อง “จริยธรรมในการทำงานเพื่อความสุขสมดุลในชีวิต”  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อดูแลคนไทยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และในปี 2566 นี้ เป็นวาระครบรอบปีที่ 21 และก้าวสู่ปีที่ 22 โดย สปสช. ได้จัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้  

4

ตลอดในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ได้ดำเนินการโดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการเพื่อขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันมี 5 ระยะ คือ  ระยะที่ 1 (ปี 2546-2550) สร้างความครอบคลุมด้านหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย ระยะที่ 2 (2551–2554) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ระยะที่ 3 (ปี 2555–2559) ความยั่งยืนระบบฯ ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย และระยะที่ 4 (ปี 2560-2565) ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล และระยะที่ 5 (ปี 2566-2570) ที่มุ่งขับเคลื่อนให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ”

4

ด้วยการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการข้างต้นนี้ ประกอบกับปัจจัยสนับสนุน ทั้งการบูรณาการระบบข้อมูลและมีชุดข้อมูลมาตรฐาน (Standard data set) การเชื่อมข้อมูลทุกระบบได้อย่างคล่องตัว และหน่วยบริการส่งข้อมูลบริการ/ข้อมูลเบิกจ่ายรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน ทำให้ สปสช. สามารถดูแลประชาชนผู้มีสิทธิเกือบ 47 ล้านคน ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ ส่งให้ผลการสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดในปี 2566 ความพึงพอใจของประชาชนอยู่ที่ร้อยละ 97.69 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 98.19 ส่วนภาคีเครือข่ายและภาคประชาชนความพึงพอใจ ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 97.62 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 97.84 และหน่วยบริการความพึ่งพอใจ ปี 25666 อยู่ที่ร้อยละ 91.27 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 86.19

1

1

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางของ สปสช. ในการก้าวสู่ปี 22 นี้ สปสช. เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาการในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสู่ “30 บาท อัพเกรด” (UPGRADE) เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมร่วมขับเคลื่อนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จัดกลไกให้ข้อมูล ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและหน่วยบริหาร เบื้องต้นเตรียมสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ประชาชนไทยทุกคน เข้าถึงบริการตามนโยบาย Quick win ทั้งวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สถานชีวภิบาล และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน

4

4

นอกจากนี้ยังได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการของ สปสช. ดังนี้ 1. ประชาชนได้รับประโยชน์ สะดวก รวดเร็ว อาทิ นัดคิวหรือนัดแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ บริการรับยาใกล้บ้าน บริการตรวจแล็บ/เจาะเลือดใกล้บ้านหรือที่บ้าน บริการกายภาพบำบัด/การพยาบาลเบื้องต้นที่บ้าน และบริการแพทย์ทางไกล ฯลฯ  2. หน่วยบริการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ค่าชดเชยบริการเร็วขึ้น และ 3.ใช้ระบบ AI ตรวจสอบก่อนเบิกจ่าย เพิ่มความแม่ยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ  

4

4

“วันนี้ สปสช. ได้ก้าวสู่ปีที่ 22 แล้ว แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาจะได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่โจทย์ใหญ่ต่อจากนี้คือการต่อยอดและพัฒนาระบบเพื่อให้สอดคล้องและสนองต่อความต้องการและวิถีชีวิตของประชาชนได้ โดยมุ่งขับเคลื่อนให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

4