ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค-สปสช.จับมือ เร่งผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรอง-วินิจฉัย "วัณโรค" ประชากร 7 กลุ่มเสี่ยง ตามเป้าหมายยุติวัณโรคของไทยและ WHO ภายในปี 2578


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันวัณโรคยังเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย กรมควบคุมโรคจึงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรอง และตรวจวินิจฉัยวัณโรคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในประชากร 7 กลุ่มเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมีนาคม 2564

ทั้งนี้ จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองวัณโรคด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (CXR) และตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยวิธีอณูชีววิทยา (Molecular assay) เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รวมถึงเพิ่มศักยภาพของการคัดกรองวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ลดปัญหาการแพร่ระบาดวัณโรค และสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันดำเนินการกลยุทธ์ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้เข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด ตลอดจนดูแลรักษาให้หายจากวัณโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้าง ซึ่งส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรค อย่างไรก็ตามการลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ลงจะทำได้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค คือการทำให้อัตราอุบัติการณ์วัณโรคของประเทศไทยลดลงจาก 171 รายต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 เหลือเพียง 10 รายต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2578 อันจะนำไปสู่การทำให้เมืองไทยปลอดวัณโรค สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ตามองค์การอนามัยโลก (WHO)

ข้อมูลเพิ่มเติม
รายงานวัณโรคของโลกปี 2563 (Global Tuberculosis Report 2020) จาก WHO พบว่าประเทศไทยมีอัตราป่วยวัณโรครายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 1.15 เท่า และมีผู้ป่วยที่ถูกตรวจพบและรายงานราว 84% ของที่คาดประมาณเท่านั้น สะท้อนว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงการรักษา หรือเข้าถึงล่าช้า ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปในชุมชน จึงพบอัตราป่วยวัณโรคในประเทศไทยลดลงเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี

ในปี 2557 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้การควบคุมและป้องกันวัณโรค เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อให้ทั่วโลกบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ให้เหลือ 10 รายต่อประชากรแสนคน ในปี 2578 ตามยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคของ WHO

สำหรับประชากร 7 กลุ่มเสี่ยง ที่กรมควบคุมโรคและ สปสช.จะผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์ ในการตรวจคัดกรองและตรวจวินิจฉัยวัณโรค ประกอบด้วย 1. ผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอด 2. ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้อาศัยในสถานคุ้มครอง และพัฒนาคนพิการหรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 3. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

4. ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง อาทิ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 5. ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคเบาหวานร่วมด้วย 6. ผู้ใช้สารเสพติด ติดสุราเรื้อรัง 7. บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ