ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกเรียกร้องนานาประเทศ เพิ่มการลงทุนกับบริการสุขภาพและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัณโรค พร้อมเน้นให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าถึงการรักษาและบริการป้องกันโรคอย่างทันท่วงที

แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา แต่กลับพบว่าปี 2564 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากวัณโรคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

สาเหตุหลักมาจากโรคระบาดโควิด 19 ที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ บริษัทยา นักวิจัย และรัฐบาล เททรัพยากรไปรับมือโรคโควิด ซึ่งเป็นสภาวะวิกฤติเร่งด่วนในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ประกอบกับเกิดภาวะสงครามและการสู้รบในแถบยุโรปตะวันออก แอฟริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งสร้างความยากลำบากต่อผู้ป่วยวัณโรค และผู้ที่มีความเสี่ยงติดโรคในการเข้ารับบริการสุขภาพ

องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่ามีผู้ป่วยจากวัณโรคมากถึง 30,000 คนต่อวัน และเสียชีวิต 4,100 คนต่อวัน ถือเป็นหนึ่งในโรคอันตรายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุด และควรมีเม็ดเงินลงทุนที่ 4 แสนล้านบาทต่อปี จึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันวัณโรค  

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าจำนวนเม็ดเงินนี้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบระหว่างปี 2563 ก่อนโรคโควิดระบาด และปี 2564 หลังโรคโควิดระบาด

ในด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับวัณโรค ควรมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 35,000 ล้านบาทต่อปี จึงจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและยาที่ขจัดวัณโรคได้ โดยเฉพาะวัคซีนต้านวัณโรค แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กลับพบว่าเม็ดเงินลงทุนด้านนี้ไม่ถึงเป้าเช่นกัน

นพ. ทีดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเสนอว่า ต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนด้านวัณโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องผู้คนจากการเสียชีวิตจากวัณโรค และลดภาระต่อเศรษฐกิจ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถทำงานตามปกติได้

องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติได้ทำโครงการลดวัณโรค โดยกำหนดเป้าหมาย 5 ปี (2561-2565) แต่กลับมีแนวโน้มไม่สามารถทำตามเป้าได้ เพราะจำนวนเม็ดเงินลงทุนและเงินบริจาคเข้าโครงการที่ลดลงในช่วงโรคโควิดระบาด

ในระหว่างปี 2561-2563 มีผู้เข้ารับการรักษาวัณโรคมากถึง 20 ล้านคนคิดเป็น 50% ของเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกวางไว้ ขณะที่ผู้มีความเสี่ยงติดโรคมากกว่า 8.7 ล้านคนเข้าถึงบริการป้องกันโรค คิดเป็น 29% ของเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น

สถานการณ์ค่อนข้างย่ำแย่ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่ามีผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มนี้มากถึง 63 % ที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจและรักษาโรคได้ในปี 2563

ขณะที่ 72% ของกลุ่มผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่ในสถานการร์เดียวกัน สองในสามของเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับบริการป้องกันวัณโรค ซึ่งยังส่งผลต่อการแพร่เชื้อวัณโรคในครัวเรือนอีกด้วย

พญ.เทเรซา คาแซวา ผู้อำนวยการโครงการวัณโรค ประจำองค์การอนามัยโลก กล่าวว่าเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ออกแนวปฏิบัติการจัดการวัณโรคในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญที่ขอให้นานาประเทศนำไปปฏิบัติตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและปัองกันวัณโรคในกลุ่มเด็กและเยาวชน เช่น ขอให้ใช้วิธีการตรวจโมเลกุลแบบรวดเร็วกับกลุ่มนี้ และให้ยาตัวใหม่ bedaquiline และ delamanid สำหรับเด็กที่ดื้อยา 

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ลดเวลาการรักษาจาก 6 เหลือ 4 เดือน สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็กและเยาวชนที่ดื้อยาอ่อนๆ และลดเวลาจาก 12 เหลือ 6 เดือนสำหรับการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากวัณโรค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ยังให้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดีเท่าเดิม

องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้มีการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยวัณโรคแบบกระจายอำนาจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการรักษาในสถานที่ใกล้บ้าน

อ่านข่าวต้นฉบับที่:
https://www.who.int/news/item/21-03-2022-on-world-tb-day-who-calls-for-increased-investments-into-tb-services-and-research